เอเจนซีส์ – บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น “พานาโซนิค” ประกาศจะจ่ายค่าแรงพิเศษให้แก่พนักงานที่ถูกส่งไปประจำในจีน เพื่อชดเชยที่พวกเขาต้องเสี่ยงกับ “มลพิษทางอากาศ”
การจ่ายเงินชดเชยมลภาวะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ได้จากจากการประชุมสหภาพแรงงานประจำปี ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นรวมถึง โตโยต้า และพานาโซนิค ตกลงที่จะขึ้นเงินเดือนพนักงานเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี แม้จะมีกระแสวิตกว่าเศรษฐกิจเมืองปลาดิบอาจชะลอตัวลงอีกหลังจากที่กฎหมายขึ้นภาษีจาก 5% เป็น 8% เริ่มมีผลบังคับในวันที่ 1 เมษายนก็ตาม
โฆษกพานาโซนิค ยืนยันว่า บริษัทมีนโยบายจ่ายค่าชดเชยมลพิษให้แก่พนักงานญี่ปุ่นที่ไปประจำในจีนจริง แต่ปฏิเสธที่จะเผยรายละเอียดหรือระบุจำนวนพนักงานที่เข้าข่ายได้รับเงินพิเศษ
แม้การจ่ายค่าชดเชยความลำบากจะไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับบริษัทต่างชาติที่ส่งบุคลากรเข้าไปทำงานในจีน แต่เชื่อว่า พานาโซนิค น่าจะเป็นรายแรกที่จ่าย “ค่าชดเชยมลพิษ”
เอกสารของพานาโซนิคในการประชุมสหภาพแรงงาน ระบุว่า “ในส่วนของเงินพิเศษที่จะจ่ายแก่พนักงานซึ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ นั้น เราจะพิจารณาจ่ายเงินแก่ผู้ที่ทำงานตามเมืองใหญ่ๆ ของจีน”
เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิ่งแวดล้อมของจีนเผยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า คุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ของจีนเกือบทุกแห่งล้วนต่ำกว่าค่ามาตรฐานในปีที่แล้ว ขณะที่นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ก็ประกาศจะทำ “สงคราม” กับมลพิษ
เอกสารของพานาโซนิคอ้างถึง PM 2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคมลพิษขนาด 2.5 ไมโครมิเตอร์หรือเล็กกว่า ซึ่งสามารถเข้าสู่ปอดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนจำนวนมาก
จากการตรวจวัดค่ามลพิษในอากาศโดยสถานทูตสหรัฐฯประจำกรุงปักกิ่งพบว่า มีค่า PM 2.5 เกินกว่า 400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถึง 16 เท่า
เมืองใหญ่ของจีนมักถูกปกคลุมด้วยหมอกพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองเมื่อออกจากบ้าน