เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผลวิจัยล่าสุดในสหรัฐฯ ยืนยันการปัสสาวะในสระว่ายน้ำ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้ใช้สระน้ำ
ผลการวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดิว ในมลรัฐอินดีแอนาของสหรัฐฯที่มีการเผยแพร่ในวันพุธ (12 มี.ค.) ระบุว่า การปัสสาวะในสระว่ายน้ำจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้ที่แหวกว่ายอยู่ในสายน้ำดังกล่าว เนื่องจากสารยูรีนจากปัสสาวะของมนุษย์จะเข้าไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับสารคลอรีนในสระว่ายน้ำ และก่อให้เกิดสารเคมีชนิดใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา
ข้อมูลของทีมวิจัยระบุว่า กรดยูริกภายในสารยูรีนจากปัสสาวะจะไปทำปฏิกิริยากับสารคลอรีนในสระว่ายน้ำและก่อให้เกิดสารเคมีชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า “ไซยาโนเจน คลอไรด์” ซึ่งเป็นสารพิษในตระกูลเดียวกันกับ “ไซยาไนด์” ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมผลิตยาปราบศัตรูพืช เส้นใยอะคริลิก และการชุบโลหะ
ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า สระว่ายน้ำที่มีระดับความเข้มข้นของกรดยูริกปัสสาวะในระดับตั้งแต่ 24-68 เปอร์เซ็นต์จะพบการก่อตัวของสารไซยาโนเจน คลอไรด์เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้สระว่ายน้ำดังกล่าว ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นนักว่ายน้ำมือสมัครเล่นทั่วไป หรือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การว่ายน้ำอย่างโชกโชน อย่างพวก “ไลฟ์การ์ด”
นอกจากสารไซยาโนเจน คลอไรด์แล้ว ทีมวิจัยพบว่าปัสสาวะของคนเราสามารถทำปฏิกิริยากับคลอรีน และเกิดเป็นสารเคมีอันตรายอีกชนิด นั่นคือ “ไทรโคลราไมน์” ด้วยเช่นกัน พร้อมเผยว่าสารเคมีอันตรายทั้งสองชนิดจะมีผลกระทบต่อการทำงานของปอด และหัวใจของมนุษย์หากมันเข้าสู่ร่างกายของเรา
ก่อนหน้านี้มีผลการสำรวจความคิดเห็นในสหรัฐฯ ที่พบว่า ราว 19 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ที่ใช้บริการ “สระว่ายน้ำสาธารณะ” ในเมืองลุงแซม ยอมรับว่าพวกตน “ฉี่” ขณะอยู่ในสระเป็นประจำ และมักปัสสาวะมากกว่า 1 ครั้งต่อการใช้บริการแต่ละครั้ง