เอเจนซีส์ - พบฟอสซิลฟันในสภาพสมบูรณ์อายุร่วม 1,000 ปี ที่ยังมีคราบแบคทีเรียและเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน เพราะการรักษาของคราบฟันที่ทำหน้าที่คล้ายกับลาวาภูเขาไฟรักษาร่างของชาวโรมันยุคโบราณ โดยหลักฐานทัณตกรรมยุคโบราณนี้ถูกขุดค้นพบที่สุสานโบราณยุคกลางในเยอรมัน
“จากหลักฐานที่ค้นพบชี้ให้เห็นถึงกลุ่มประชากรที่เรากำลังศึกษานั้นแปรงฟันไม่บ่อยนัก หรือไม่เลย” คริสตินา วารินเนอร์ หัวหน้าทีมนักวิจัยโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งซูริก และมหาวิทยาลัยโอกลาโฮมาในนอร์แมน ซึ่งผลการค้นพบนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ เจนเนติกส์ในวันจันทร์ (24) ที่ผ่านมา
คราบฟันถือเป็นศัตรูของทันตแพทย์ แต่กลายเป็นว่ามันทำหน้าที่เกราะป้องกันรักษาแบคทีเรีย (หรือ microbiome) และคราบเศษอาหารตามซอกฟันหลังจากมนุษย์โบราณผู้นั้นได้เสียชีวิตลงไปนานแล้ว ซึ่งวัตถุเหนียวที่ติดอยู่บนฟันนี้ทำให้เกิดหินปูนขึ้นในภายหลัง โดยคราบฟันนี้ได้ยึดเศษอาหารและเศษอื่นๆไว้ รวมไปถึงแคลเซียมฟอสเฟตในน้ำลาย ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวที่พบในฟันและกระดูก
“เรารู้ว่าคราบหินปูนเป็นตัวเก็บแบคทีเรียและเศษอาหารไว้ได้ แต่ในสภาพที่พบในฟอสซิลนี้มันน่ามหัสจรรย์มาก” แมทธิว คอลลินส์ นักวิจัยร่วมทีมจากมหาวิทยาลัยแห่งยอร์กกล่าวในแถลงการณ์
นอกจากนี้ พบว่าดีเอ็นเอเศษอาหารที่พบในซอกฟันมนุษย์โบราณนั้นตรงกับ หมู แกะ ข้าวสาลีประเภทที่ใช้ทำขนมปัง และผักประเภทกะหล่ำปลี และคราบเหนียวที่มาจากซีเรียล และตระกูลถั่ว ซึ่งเป็นสิ่งที่จะพบได้ในร้านอาหารในเยอรมันปัจจุบันนี้ วารินเนอร์ หัวหน้าทีมกล่าวเสริม
และพบว่ามนุษย์โบราณไม่กี่รายที่มีสุขภาพฟันที่แข็งแรงอย่างน่าทึ่ง แต่ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุเพิ่มมากขึ้นได้เสียฟันไปเกือบหมดแล้วเนื่องจากสภาพการใช้งานอย่างสมบุกสมบัน ฟันผุ และโรคในช่องปาก
นอกจากนี้แบคทีเรียชนิดที่พบในฟันมนุษย์โบราณนี้เป็นประเภทที่คล้ายกับที่พบในฟันของคนสมัยปัจจุบันมากอย่างน่าทึ่ง รวมถึงประเภทที่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ