xs
xsm
sm
md
lg

จีน ‘กำจัด’ รายงานที่ระบุว่า ‘ปักกิ่ง’ อุดมมลพิษจน ‘พำนักอาศัยไม่ได้แล้ว’

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China quashes reports of 'unlivable' Beijing
By Radio Free Asia
14/02/2014

พวกเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในจีน ได้จัดการลบทิ้งการอ้างอิงทางออนไลน์ ซึ่งเชื่อมโยงไปยังรายงานว่าด้วยระดับภาวะมลพิษของทางการฉบับหนึ่ง โดยที่เนื้อหาของรายงานดังกล่าวระบุว่านครหลวงของแดนมังกรอยู่ในสภาพเลวร้ายหนักจนใกล้จะไม่เหมาะแก่การพำนักอาศัยของมนุษย์แล้ว ในเวลาเดียวกันนั้นเองสื่อมวลชนของรัฐก็พยายามออกมากลบเลื่อนจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของกรุงปักกิ่ง ทั้งนี้รายงานว่าด้วยความเหมาะสมในการพำนักอาศัยของบัณฑิตยสถานทางสังคมศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ฉบับนี้ ได้ให้ปักกิ่งอยู่ในลำดับ 2 จากข้างท้ายในการจัดอันดับเมืองใหญ่ๆ 40 แห่งทั่วโลก

พวกเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตของจีน เมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.พ.) ที่ผ่านมาได้จัดการลบทิ้งการอ้างอิงทางออนไลน์ ซึ่งเชื่อมโยงไปยังรายงานว่าด้วยระดับภาวะมลพิษของทางการฉบับหนึ่ง โดยที่เนื้อหาของรายงานดังกล่าวระบุว่านครหลวงของแดนมังกรอยู่ในสภาพเลวร้ายหนักจนใกล้จะไม่เหมาะแก่การพำนักอาศัยของมนุษย์แล้ว ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พวกสื่อมวลชนของรัฐก็พยายามออกมากลบเลื่อนจำกัดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ระหว่างประเทศของกรุงปักกิ่ง

“โกลบัลไทมส์” (Global Times) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษขนาดแทบลอยด์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้เสนอข่าวโดยอ้างว่า หนึ่งในคณะผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าวบอกว่า พวกสื่อมวลชนได้ “ขยายความ” ผลการศึกษาวิจัยของทางคณะจนเกินเลยไป

ทั้งนี้ รายงานเจ้าปัญหาฉบับนี้ เป็นผลงานการศึกษาที่จัดทำโดยบัณฑิตยสถานทางสังคมศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Academy of Social Sciences) รายงานดังกล่าวที่เผยแพร่ออกมาในสัปดาห์นี้ ได้จัดอันดับปักกิ่งให้เป็นที่สองจากข้างท้าย ในดัชนีว่าด้วยความเหมาะสมแก่การพำนักอาศัยของเมืองใหญ่ต่างๆ 40 แห่งทั่วโลก

ปักกิ่งนั้น “ดัชนีด้านภาวะมลพิษอยู่ในระดับใกล้ๆ ย่ำแย่จนถึงขีดสุด และอยู่ใกล้ๆ ระดับที่มนุษย์ไม่สามารถพำนักอาศัยได้อีกต่อไป” รายงานฉบับนี้สรุป

สำหรับนครที่ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของรายงานฉบับนี้ ได้แก่ โตเกียว, ลอนดอน, ปารีส, นิวยอร์ก, และสิงคโปร์ ขณะที่ เซี่ยงไฮ้ กับ ปักกิ่ง อยู่ในอันดับ 21 และอันดับ 31 ตามลำดับ โดยที่ในการจัดอันดับนี้ อาศัยปัจจัยด้านต่างๆ จำนวนมากมาเป็นเกณฑ์วัด เป็นต้นว่า พลังความมีชีวิตชีวาในทางเศรษฐกิจ, เสถียรภาพทางสังคม, วัฒนธรรม, การบริหารจัดการเขตเมือง, นิเวศวิทยา, และพื้นที่ของเขตนคร

รัฐบาลจีนนั้นเพิ่งประกาศมาตรการชุดใหญ่ชุดหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายมุ่งต่อสู้เอาชนะภาวะมลพิษต่างๆ ตามเขตเมืองใหญ่ของประเทศ เป็นต้นว่า ปัญหาหมอกควันพิษ โดยหนึ่งในมาตรการเหล่านี้ ได้แก่การจัดตั้งกองทุนต่อต้านมลพิษมูลค่า 10,000 ล้านหยวน (ประมาณ 55,000 ล้านบาท –ผู้แปล) ซึ่งคณะรัฐมนตรีของจีนแถลงในสัปดาห์นี้

กองทุนแห่งนี้จะเสนอให้รางวัลต่างๆ แก่บรรดารัฐบาลระดับท้องถิ่นซึ่งสามารถทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมได้อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณสารแขวนลอยอันตรายที่ปะปนอยู่ในมลพิษทางอากาศ อย่างเช่น สารแขวนลอยในบรรยากาศขนาดเล็กละเอียดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ไมโครเมตรลงไป (พีเอ็ม 2.5)

ปัญหาหมอกควันพิษของจีน ได้ทำให้หลายๆ อาณาบริเวณของประเทศถึงขั้นตกอยู่ในภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคเหนือ เนื่องจากมันบังคับให้สนามบินต่างๆ ต้องยกเลิกเที่ยวบินนับพันๆ หมื่นๆ เที่ยวบิน, โรงเรียนสถานศึกษาทั้งหลายต้องงดเรียนงดสอน, ขณะเดียวกับที่ลดทอนทัศนวิสัยตามท้องถนนในเมืองใหญ่

ตามรายงานของสื่อทางการ รัฐบาลจีนวางแผนจะให้พวกโรงงานที่เป็นตัวก่อมลพิษจำนวนหลายร้อยแห่งต้องติดตั้งอุปกรณ์ในการกรองฝุ่นละออง ทั้งนี้ตามระเบียบกฎเกณฑ์ด้านมลพิษฉบับใหม่ๆ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้

**อย่าไปคาดหวังอะไรมากมาย**

อย่างไรก็ดี ในความเห็นของ ชุ่ย เฉิง (Cui Cheng) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เมืองเจิ้งโจว (Zhengzhou) เขาบอกว่าตัวเขาจะไม่คาดหวังอะไรมากมายจากรัฐบาลหรอก โดยเฉพาะเมื่อแสดงออกมาให้เห็นว่าหวาดกลัวรายงานที่จัดทำขึ้นตามหลักวิทยาศาสตร์เสียหนักหนาเช่นนี้

“ถ้าหากพวกเขารู้สึกวิตกกังวลต่อรายงานที่เขียนขึ้นโดยคณะผู้เชี่ยวชาญอย่างมากมายถึงขนาดนี้ วิตกกังวลกันราวกับว่านรกกำลังจะแตกทีเดียว มันก็ย่อมไม่สามารถจะไปตั้งความหวังอะไรให้มากมาย ว่าพวกเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษได้” เขากล่าว

เขาชี้ว่า คำชี้แนะและแนวทางปฏิบัติฉบับใหม่ๆ เวลานี้ยังคงเป็นพียงแผ่นกระดาษเท่านั้น

นอกจากนั้น “ผมรู้สึกว่ามันยังคงให้ผลเล็กน้อยเกินไป ในเส้นทางแห่งการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศในเชิงยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง” ชุ่ย บอก

เขาเรียกร้องให้รัฐบาลเผยแพร่รายละเอียดและหลักฐานข้อพิสูจน์ต่างๆ ของมาตรการทั้งหลายที่จะนำมาใช้เพื่อลดระดับปัญหาหมอกควันพิษ

“ตัวอย่างเช่น จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมน้ำมันมีการลงทุนในเรื่องการทำตัวให้สะอาดยิ่งขึ้นมากน้อยขนาดไหน และการลงทุนเหล่านี้ก่อให้เกิดผลอย่างไรบ้าง ตลอดจนเวลานี้พวกเขามีส่วนในการสร้างปัญหาหมอกควันพิษมากน้อยเพียงใด” เขาชี้

“พวกเขาจะต้องให้คำตอบกับประชาชน อย่างน้อยที่สุดก็ต้องให้คำตอบกันบ้าง”

**อพยพไปอยู่ต่างประเทศ**

ภาวะมลพิษที่แผ่ลามไปอย่างกว้างขวาง ตลอดจนกรณีฉาวโฉ่เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารเรื่องแล้วเรื่องเล่า อาจจะเป็นสาเหตุเบื้องหลังของการที่พวกเศรษฐีในประเทศจีนจำนวนมาก พากันหาช่องทางอพยพไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนซึ่งสะอาดสะอ้านกว่าแดนมังกร

ตามรายงานข่าวที่เผยแพร่กันออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่มีสัดส่วนเท่ากับ 91% ของผู้ยื่นสมัครตามโครงการออกวีซ่าเพื่อสนับสนุนการลงทุนของออสเตรเลีย นับแต่ที่แดนจิงโจ้เริ่มโครงการนี้มาในปี 2012

ส่วนแคนาดาก็กำลังต้องออกแรงลุยหนักเพื่อจัดการกับใบสมัครที่ยังคั่งค้างอยู่ถึง 57,000 ฉบับ ซึ่งก็เป็นเอกสารขออพยพไปตั้งถิ่นฐานจากผู้คนซึ่งอยู่ในจีนเช่นเดียวกัน

ชาวเมืองปักกิ่งผู้หนึ่งซึ่งยอมให้เปิดเผยเพียงแซ่ของเขาว่า แซ่เจ้า (Zhao) แสดงความเห็นว่า ชาวจีนสามัญชนธรรมดาจำนวนมากมายก็ปรารถนาที่จะผละจากแดนมังกรไปอยู่ในต่างประเทศ

“ลองคิดดูเถอะ ผมเองก็วางแผนเอาไว้นานแล้วว่าจะอพยพไปอยู่ต่างประเทศ เพราะผมรู้สึกทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว” เจ้า กล่าว “มันเหมือนกับกำลังอาศัยอยู่ตรงกลางของกลุ่มก๊าซพิษยังไงยังงั้นเลย”

เขาบรรยายถึงภาพที่ปรากฏอยู่ด้านนอกบ้านของเขาในเขตทงโจว (Tongzhou) ซึ่งเป็นย่านชานเมืองของปักกิ่งว่า เห็นแต่หมอกควันสีน้ำเงินซึ่งเกิดขึ้นจากไอเสียทางอุตสาหกรรม

“มันไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์อย่างแน่นอน” เจ้า บอก “ไม่มีข้อสงสัยอะไรเลยในเรื่องนี้”

เขากล่าวว่า สภาวการณ์ยิ่งเลวร้ายลงอีกอย่างชัดเจนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “เวลานี้มันสาหัสร้ายแรงจริงๆ” เจ้า บอก “แล้วมันยังคงเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ”

**ภาวะมลพิษทางภาคเหนือ**

ตามรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคมของคณะกรรมการแห่งรัฐเพื่อการพัฒนาและการปฏิรูป (State Development and Reform Commission) ของรัฐบาลจีน มีประชาชนประมาณ 600 ล้านคนทีเดียวที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากมลพิษทางอากาศ และจากช่วงที่เกิดหมอกควันพิษปกคลุมภาคเหนือของแดนมังกร

ขณะที่รายงานการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ของบัณฑิตยสถานทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติอเมริกัน (American National Academy of Sciences) ระบุว่า ผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ทางภาคเหนือของจีน อาจจะกำลังสูญเสียช่วงเวลาที่จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ (life expectancy) ของพวกตนไปถึง 5 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับผู้คนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของแดนมังกร ซึ่งอย่างน้อยที่สุดจวบจนถึงเมื่อเร็วๆ นี้ก็ยังได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศมีคุณภาพดีกว่า

หยัง ฟาน (Yang Fan) เป็นผู้รายงานข่าวนี้ให้แก่วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาจีนกลาง (Radio Free Asia's Mandarin Service) และ ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie) เป็นผู้แปลและเขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น