เอเอฟพี - ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช แห่งยูเครน ยินยอมลบล้างกฎหมายต่อต้านการชุมนุม แต่มีเงื่อนไขปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกควบคุมตัวก็ต่อเมื่อฝ่ายต้านยอมรื้อแนวกั้น ระหว่างสองฝ่ายเปิดเจรจากันอีกรอบในช่วงค่ำวันจันทร์ (27) แนวโน้มสถานการณ์ความตึงเครียดที่ดีขึ้นของวิกฤตที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือน ก่อนหน้าการประชุมซัมมิทอียู-รัสเซีย
ในถ้อยแถลงของทำเนียบประธานาธิบดีที่เผยแพร่ออกมาตามหลังการเจรจา ยังเผยด้วยว่านายอาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หนึ่งในแกนนำฝ่ายต่อต้านได้ปฏิเสธอย่างเป็นทางการต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่เสนอโดยนายยานูโควิช ระหว่างการประชุมรอบก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ (25)
“มีการตัดสินใจทางการเมืองสำหรับล้มเลิกกฎหมายที่ออกมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ก่อการโต้เถียงอย่างกว้างขวาง” ถ้อยแถลงระบุ ตามหลังการหารือรอบใหม่ ก่อนหน้าการประชุมรัฐสภานัดพิเศษในกรุงเครียฟ ในวันอังคาร (28) ซึ่งคาดหมายว่าจะมีการหารือกันถึงมาตรการความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะยุติวิกฤตความขัดแย้งนองเลือดภายในประเทศ
ในการพูดคุยกันเมื่อวันจันทร์ (27) ประธานาธิบดียานูโควิช ทำการเจรจากับแกนนำหลัก 3 คนของผู้ชุมนุม ได้แก่ นายวิตาลี คลิตช์โก อดีตแชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวีเวตที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง, นายอาร์เซนี ยัตเซนยุค อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และโอเลห์ ทียาห์นิบอค ผู้มีแนวคิดชาตินิยม ซึ่งนัดชุมนุมใหญ่รอบใหม่ที่จตุรัสอิสรภาพอีกครั้งในวันอังคาร (28)
สัญญาณแห่งการประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย มีขึ้นหลังจากก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เหล่าผู้ประท้วงกลุ่มหัวรุนแรง ยอมที่จะออกจากอาคารกระทรวงยุติธรรมที่พวกเขาบุกยึดมาตั้งแต่ช่วงค่ำวันอาทิตย์ (26) ตามหลัง โอลีนา ลูคาช รัฐมนตรียุติธรรมแถลงทางทีวีขู่ประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ในเวลาต่อมาทางรัฐบาลชี้แจงว่ายังไม่มีแผนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม
ทางโฆษกของผู้ชุมนุมบอกว่าที่ยอมล่าถอยอกมาเพราะไม่ต้องการยั่วยุเจ้าหน้าที่ ขณะที่ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานแม้ผู้ประท้วงยอมออกจากตัวอาคาร แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมราวๆ 30 คนแต่งกายชุดทหาร กวัดแกว่งไม้ตะบอง คอยลาดตระเวนตรวจตราอยู่ด้านนอก
กระทรวงยุติธรรมนับเป็นกระทรวงที่ 3 ที่ถูกผู้ชุมนุมบุกยึดในรอบ 4 วันที่ผ่านมา หลังจากผู้ประท้วงเข้าควบคุมกระทรวงเกษตรในวันศุกร์ (24) และกระทรวงพลังงานในวันเสาร์ (25) ก่อนที่จะยอมล่าถอยออกจากกระทรวงพลังงานในวันจันทร์ (27) หลังรัฐมนตรีเตือนว่าปฏิบัติการดังกล่าวอาจก่อความยุ่งเหยิงทางอุปทานพลังงานในประเทศ
การประท้วงในยูเครน ที่เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจากความไม่พอใจที่รัฐบาลยกเลิกการลงนามข้อตกลงกระชับสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปกะทันหันและหันไปพึ่งพิงรัสเซียแทน ลุกลามกลายเป็นการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช ลาออก โดยมีการยกระดับการชุมนุมทั้งในแง่ขนาดและความรุนแรง รวมถึงแผ่ลามไปยังแคว้นต่างๆ หลังจากตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม 2 ครั้ง กระทั่งถึงปลายสัปดาห์ที่แล้วที่มีการปะทะระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ ซึ่งทำให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 3 คน หลังจากยานูโควิชผ่านกฎหมายซึ่งห้ามการชุมนุมประท้วงแทบทุกประเภท
พอตกอยู่ใต้แรงกดดันอย่างไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อวันเสาร์ (25) นายยานูโควิชจึงเสนอตำแหน่งในรัฐบาลแก่ฝ่ายต่อต้าน รวมถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญลดอำนาจของประธานาธิบดีและและหวนกลับไปสู่ระบบที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แกนนำฝ่ายค้านยืนกรานเดินหน้าประท้วงต่อไปจนกว่าทุกข้อเรียกร้องของพวกเขาจะได้รับการตอบสนอง ในนั้นรวมไปถึงยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่