เอเอฟพี - นางคาลิดา เซีย แกนนำฝ่ายค้านบังกลาเทศเมื่อวันจันทร์ (20) ออกมาเรียกร้องเหล่าผู้สนับสนุนให้จัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในความพยายามกดดันให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกนับตั้งแต่ทางการผ่อนปรนมาตรการกักบริเวณเธอโดยพฤตินัย
เซีย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และศัตรูของนางชีค ฮาซินา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ตราหน้ารัฐบาลชุดใหม่ว่าไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย หลังจากศึกเลือกตั้งนองเลือดเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ถูกคว่ำบาตรโดยฝ่ายค้าน
นอกจากนี้แล้ว นางเซียยังเรียกร้องฝ่ายสนับสนุนหลายพันคนที่ออกมารวมตัวกันในเมืองหลวง เริ่มต้นการประท้วงรอบใหม่ เพื่อกดดันให้รัฐบาลใหม่ของนางฮาซินา ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลรักษาการที่มีความเป็นกลาง “รัฐบาลชุดนี้ขึ้นสู่อำนาจด้วยอำนาจของปืน ไม่ใช่เสียงของประชาชน” เธอปราศรัยกับผู้ชุมนุมราว 35,000 คนที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงธากา “รัฐบาลชุดนี้ผิดกฎหมาย ศึกเลือกตั้งถูกจัดขึ้นแบบลุกลี้ลุกลน”
นางเซีย เสมือนถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักโดยปริยายราว 2 สัปดาห์ก่อนถึงศึกเลือกตั้งวันที่ 5 มกราคม ด้วยที่มีตำรวจจำนวนมากเฝ้าอยู่บริเวณด้านนอกบ้านของเธอในกรุงธากา จากความกังวลว่าเธอจะมานำการชุมนุมและโหมกระพือความไม่สงบ ก่อนที่เธอจะได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านในวันที่ 11 มกราคม ขณะที่ทางการปฏิเสธว่าไม่เคยกักบริเวณสตรีนางนี้
นายกรัฐมนตรีฮาซินายืนกรานว่า ชัยชนะของเธอในศึกเลือกตั้งนั้นมีความชอบธรรมตามกฎหมาย แม้ถูกพรรคบังกลาเทศ เนชันนัลลิสต์ ปาร์ตีของนางเซียและพันธมิตรคว่ำบาตร ขณะที่การลงคะแนนเมื่อวันที่ 5 มกราคม ได้กลายเป็นศึกเลือกตั้งครั้งนองเลือดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ด้วยมีผู้เสียชีวิตเฉพาะวันหย่อนบัตรอย่างน้อย 26 ราย ท่ามกลางเหตุรุนแรงต่างๆ นานา ในนั้นรวมถึงกรณีที่ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านหลายร้อยคนยกพลกันไปเผาและทุบทำลายหน่วยเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง ฝ่ายค้านได้จัดชุมนุม ผละงานประท้วงและปิดกั้นระบบขนส่งหลายต่อหลายครั้ง ในความพยายามขัดขวางการเลือกตั้ง อันนำมาซึ่งเหตุรุนแรงต่างๆนานา คร่าชีวิตผู้คนรวมกว่า 200 ศพ ทว่าก็ไม่อาจยับยั้งการลงคะแนนได้
คณะกรรมการการเลือกตั้งอ้างว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิในวันที่ 5 มกราคม ราวร้อยละ 40 แต่นักสังเกตการณ์อิสระและสื่อท้องถิ่นบอกว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิมากสุดก็น่าจะแค่ราวๆร้อยละ 20 ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศ ขณะที่เสียงเรียกร้องขอให้จัดการเลือกตั้งใหม่ของ เซีย สะท้อนความประสงค์ของสหรัฐฯ พันธมิตรการค้าใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศและชาติอื่นๆ ที่ต้องการเห็นรัฐบาลและฝ่ายค้านเปิดหารือกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้