รอยเตอร์ - องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ยกให้ปี 2013 เป็นปีที่ “เลวร้ายที่สุด” สำหรับผู้อพยพ โดยประเมินว่ามีผู้อพยพย้ายถิ่นไม่ต่ำกว่า 7,000 คนที่ต้องจบชีวิตลงขณะเดินทางข้ามน้ำหรือทะเลทรายไปสู่ดินแดนที่ปลอดภัยต่อการดำรงชีพ
รายงานจากไอโอเอ็ม ซึ่งอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานชายแดนและนักเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ พบว่า ผู้อพยพอย่างน้อย 2,360 คนต้องล้มตายขณะเดินทางไปแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในปี 2013 หลายคนยอมจ่ายเงินให้แก๊งค้ามนุษย์เพียงเพื่อจะร่วมเดินทางด้วยวิธีที่เสี่ยงอันตราย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมและแบ่งปันโดยชาติตะวันตก อาจยังเทียบไม่ได้กับจำนวนประชากรที่เสียชีวิตขณะอพยพจากทวีปแอฟริกามายังตะวันออกกกลาง
ไอโอเอ็มประเมินว่า มีชาวแอฟริกันราว 2,000-5,000 คนเอาชีวิตไปทิ้งในเส้นทางข้ามคาบสมุทรไซนายและอ่าวเอเดนไปยังเยเมน ซึ่งถือเป็นประตูสู่โลกอาหรับที่มั่งคั่ง แต่ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขที่ชัดเจนได้
“เราไม่สามารถทราบจำนวนที่แน่นอน เพราะผู้อพยพหลายคนเสียชีวิตไปอย่างเงียบๆ กลางทะเลทราย, มหาสมุทร หรือในอุบัติเหตุอื่นๆ” วิลเลียม เลซี สวิง ผู้อำนวยการใหญ่ไอโอเอ็ม ระบุในถ้อยแถลงเมื่อวานนี้ (17) ก่อนจะถึงวันผู้อพยพสากลซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี
แม้ตัวเลขคร่าวๆ ที่ประเมินไว้เพียง 2,360 รายก็ยังสูงกว่าสถิติของปีที่แล้ว ซึ่งพบว่ามีคนเสียชีวิตระหว่างโยกย้ายถิ่นฐาน 2,109 คน
“เราเชื่อว่าสถิติปีนี้น่าจะสูงเป็นประวัติการณ์ มากกว่าปีที่แล้ว และอาจจะยังต่ำกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ เพราะนี่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นการย้ำเตือนให้ทั่วโลกหันมาพิจารณาสถิติเหล่านี้บ้าง มันเป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกิน” เลนเนิร์ด ดอยล์ โฆษกไอโอเอ็ม ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
ผู้อพยพจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อนโยบาย “ปิดประตู” ที่บรรดาประเทศร่ำรวยบังคับใช้อย่างเข้มงวด กลายเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมืองที่คาดว่ามีเงินหมุนเวียนสูงถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ร่างผู้อพยพ 92 ศพในสภาพเน่าเฟะถูกพบกระจัดกระจายอยู่กลางทะเลทรายสะฮารา ทางตอนเหนือของไนเจอร์ หลังจากยานพาหนะของพวกเขาเกิดเสียทำให้ผู้โดยสารทุกคนต้องตายเพราะขาดน้ำ
ภาคเหนือของไนเจอร์เป็นเส้นทางหลักสำหรับผู้อพยพจากใต้ทะเลทรายสะฮาราที่จะเดินทางไปยังแอฟริกาเหนือ เพื่อข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนต่อไปยังยุโรป
ผู้อพยพจำนวนมากมายยังเอาชีวิตไปทิ้งกลางทะเลนอกชายฝั่งของไทย หรือระหว่างที่ล่องเรือจากอินโดนีเซียไปยังออสเตรเลีย โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เกาะคริสต์มาส