เอพี/เอเจนซีส์ – มิเชล บาเชเลต์ อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของชิลี เตรียมก้าวขึ้นครองตำแหน่งนี้อีกหนเมื่อเธอเป็นฝ่ายชนะขาดลอยในการเลือกตั้งรอบสองวานนี้ (15 ธ.ค.) ภายหลังที่เธอให้คำมั่นว่า จะเดินหน้าเปลี่ยนแปลงสังคมขนานใหญ่ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่ประชาชนซึ่งออกมาประท้วงตามท้องถนนเป็นเวลานานหลายปีเรียกร้องต้องการ
บาเชเลต์ มีคะแนนนำในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก ทว่าได้คะแนนเสียงไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้สิทธิ์ เธอจึงต้องลงแข่งขันในรอบสองกับ เอเบลิน มัตเตย์ จากพรรคกลางขวาซึ่งมีคะแนนเป็นที่ 2 และก็ปรากฏว่า บาเชเลต์มีชัยด้วยคะแนน 62 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 37 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ บาเชเลต์ นักสังคมนิยมผู้ยึดมั่นแนวทางสายกลาง เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงปี 2006 ถึง 2010 จากนั้นเธอผันตัวไปเป็นผู้อำนวยการ "องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ" (UN Women) ที่นิวยอร์ก ในเวลาที่ประธานาธิบดี เซบัสเตียง ปีเนรา จากพรรคอนุรักษนิยม ที่รับตำแหน่งต่อจากเธอเผชิญหน้ากับประชาชนที่ออกมาชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวาง เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ เธอได้ก่อตั้งพรรคพันธมิตรกลางซ้ายขึ้นมา และสัญญาว่าจะขึ้นภาษีนิติบุคคล เพื่อนำเงินมาส่งเสริมการศึกษา ลดช่องว่างรายได้ของประชาชน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และแก้ไขรัฐธรรมนูญ
บาเชเลต์ในวัย 62 ปี ได้ยุติบทบาทประธานาธิบดี ขณะที่เธอได้รับคะแนนความนิยมถึง 84 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านใดได้เลย ทั้งนี้รัฐธรรมนูญของชิลีระบุว่า ผู้ที่เป็นประธานาธิบดีนั้นจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหลายสมัยไม่ได้ จำเป็นต้องเว้นวรรค บาเชเลต์จึงไม่ได้เข้าสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่สองในทันที
ครั้งนี้ บรรดานักเคลื่อนไหวให้คำมั่นว่า จะบีบให้เธอสัญญาว่าจะขึ้นภาษีนิติบุคคล เพื่อนำเงินมาพัฒนาการศึกษา และกระทั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคเผด็จการ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทำได้ยาก เนื่องจากพรรคพันธมิตรของบาเชเลต์นั้นครองเสียงในทั้งสองสภาเกินกึ่งหนึ่งมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ทั้งนี้ ชาวชิลีจำนวนมากต่างโทษว่าเป็นความผิดจากนโยบายของพลเอก ออกัสโต ปีโนเชต์ ผู้นำเผด็จการในช่วงปี 1973-1990 ที่ต้องการถ่ายโอนอำนาจและความมั่งคั่งไว้ในมือของคนเพียงไม่กี่คน ปิโนเชต์ยกเลิกการปฏิรูปที่ดิน ด้วยการเทขายแหล่งน้ำในประเทศให้เอกชน และสงวนการศึกษาที่ดีที่สุดไว้ให้พวกชนชั้นสูงเท่านั้น โดยล้มเลิกการควบคุมอำนาจจากส่วนกลาง และตัดเงินทุนสำหรับโรงเรียนรัฐบาล
การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ชาวชิลีต้องเลือกระหว่างผู้หญิง 2 คนที่ต่างก็มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการเมืองมานานทั้งคู่
บาเชเลต์ ซึ่งเป็นกุมารแพทย์ และมัตเตย์ ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ มีอดีตที่เหมือนนิยายร่วมกัน โดยทั้งสองเป็นลูกสาวของนายพลของกองทัพอากาศเหมือนกัน และต่างก็เป็นเพื่อนเล่นสมัยเรียนที่เดียวกัน
อย่างไรก็ตาม พ่อของบาเชเลต์ถูกทรมานจนตาย เนื่องจากเขายืนหยัดที่จะภักดีต่อประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเด ซึ่งถูกทำรัฐประหารยึดอำนาจในปี 1973 ขณะที่พ่อของมัตเตย์สนับสนุนจอมเผด็จการ ออกัสโต ปิโนเชต์ ที่ครองอำนาจระหว่างปี 1973-1990
ฝ่ายเบเชเลต์เองก็ถูกทรมาน และถูกเนรเทศ จากนั้นหลายปีต่อมาเธอกลับมายังชิลีในฐานะกุมารแพทย์ และในที่สุดก็เข้ามามีบทบาททางการเมือง