เอเอฟพี - เหล่าคนร้ายในเม็กซิโก ลอบขโมยรถบรรทุกซึ่งขนสารกัมมันตรังสี "อันตรายร้ายแรง" ที่ใช้ในการรักษาทางการแพทย์ หน่วยงานเฝ้าระวังปรมาณูของสหประชาชาติระบุในวันพุธ(4) ชี้ก่อความเสี่ยงอย่างสาหัสหากว่ามีการแกะเครื่องป้องกันออก
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) ระบุว่ารถบรรทุกคันดังกล่าวกำลังขนส่งต้นกำเนิดรังสีบรรจุโคบอลต์ 60 จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองทิฮัวนา ทางเหนือของเม็กซิโก ไปยังศูนย์เก็บรักษากากกัมมันตรังสี แต่ระหว่งนั้นกลับถูกขโมยไปที่เมืองเทโปฮาโก ใกล้ๆกับกรุงเม็กซิโก ซีตี เมื่อวันจันทร์(2)
"ตอนที่รถบรรทุกโดนขโมย มีการป้องกันต้นกำเนิดรังสีอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามต้นกำเนิดนี้อันตรายร้ายแรงอย่างยิ่งต่อมนุษย์ หากว่ามีการรื้อถอดการป้องกันออกหรือไม่ก็ในกรณีที่มันเกิดความเสียหาย" ไอเออีเอระบุในถ้อยแถลง
คำแถลงของไอเออีเอบอกด้วยว่าได้รับแจ้งเหตุขโมยรถบรรทุกครั้งนี้จากคณะกรรมาธิการปกป้องและความปลอดภัยนิวเคลียร์ของเม็กซิโก(ซีเอ็นเอสเอ็นเอส) ที่เผยรถบรรทุกถูกขโมยที่สถานีบริการน้ำมันแห่งหนึ่ง แต่ก็ยืนยันว่าสารกัมมันตรังสีจะไม่ก่อความเสี่ยงหากว่าตู้คอนเทนเนอร์ไม่พังหรือมีการแกะเครื่องป้องกันออก
เวลานี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างกระจายกำลังตามล่ารถบบรรทุกสีขาวโฟล์คสวาเกน เวิร์คเกอร์ ใน 6 รัฐทั่วเม็กซิโกรวมถึงในกรุงเม็กซิโก ซิตี นอกจากนี้ทางซีเอ็นเอสเอ็นเอสยังได้ให้เบอร์โทรศัพท์และเผยแพร่รูปถ่ายลังไม้เสริมเหล็กที่บรรจุอุปกรณ์ฉายรังสี เพื่อขอเบาะแสจากประชาชนด้วย
เหล่าผู้เชี่ยวชาญเคยเตือนมานานแล้วถึงความเสี่ยงจากการมีสารกัมมันตรังสีอันตรายจำนวนมากจัดเก็บอยู่ตามโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยหรือโรงงานต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งที่ขาดแคลนหรือไม่มีมาตรการด้านความมั่นคงดีพอสำหรับป้องกันการถูกขโมย ขณะที่สารเหล่านี้เป็นอัตรายร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์เมื่อไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม
มาร์ค ฮิบบ์ส นักวิเคราะห์จากมูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ระบุว่าโคบอลต์ 60 เคยเป็นบ่อเกิดของเหตุการณ์ร้ายแรงหลายกรณีในนั้นรวมไปตามโรงงานต่างๆ เพราะว่าสารกัมมันตรังสีครอบครองหรือจัดการโดยคนที่ไม่ทราบถึงอัตรายของมัน "มีต้นกำเนิดรังสีหลายพันหลายหมื่นอยู่ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประเทศเหล่านี้จะจัดเก็บมันอย่างปลอดภัยและแน่นหนา แต่หากมันเกิดถูกขโมยหรือหายไป คนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่ามันบรรจุสารกัมมันตรังสีอยู่ภายใน ชีวิตพวกเขาก็จะตกอยู่ในความเสี่ยง"
ขณะเดียวกันก็มีความกังวลต่อข้อสันนิษฐานที่ว่าอาจมีการนำสารกัมมันตรังสีไปทำระเบิดที่เรียกว่าระเบิดกัมมันตรังสี (Dirty Bomb) อันเป็นระเบิดประเภทหนึ่งที่พวกก่อการร้ายนำวัสดุกัมมันตรังสีมาใช้เป็นส่วนประกอบ โดยเมื่อเกิดการระเบิดขึ้น สารกัมมันตรังสีกระจายออกมาทำให้เกิดการเปรอะเปื้อนกัมมันตภาพรังสี
นายยูกิยะ อามาโนะ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) บอกกับที่ประชุมด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า หลายประเทศดำเนินมาตรการอย่างได้ผลต่อการขัดขวางไม่ให้วัตถุนิวเคลียร์ ตกไปอยู่ในมือผิดคน แต่ก็เตือนถึงผลร้ายหากเกิดข้อบกพร่องด้านมาตรการความปลอดภัย "หากระเบิดกัมมันตรังสี ถูกจุดชนวนในเมืองใหญ่หรือเกิดเหตุลอบวินาศกรรมที่โรงงานนิวเคลียร์ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็อาจเป็นหายนะ"