เอเอฟพี - สำนักข่าวต่างประเทศแสดงมุมมองสถานการณ์ทางการเมืองอันร้อนระอุของไทย ชี้นายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์” มีทางเลือกที่จะยุบสภาเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุปะทะนองเลือด ขณะที่โอกาสเกิดรัฐประหารเป็นไปได้น้อย เนื่องจากกองทัพแสดงท่าทีไม่ต้องการเข้ามาเกี่ยวข้อง
ในรายงานแสดงมุมมองต่อสถานการณ์ของเอเอฟพี Q&A on Thai political crisis เกริ่นว่าเหล่าผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลไทยในปัจจุบัน นำโดยแกนนำฝ่ายค้านระดับอาวุโส ที่ต้องการยุติ “ระบอบทักษิณ” มรดกของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกรัฐประหารโค่นอำนาจในปี 2006 และหลบหนีไปลี้ภัยในต่างแดน
รายงานดังกล่าวระบต่อว่า การชุมนุมครั้งนี้ลุกฮือขึ้นจากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมอันเป็นที่ถกเถียงที่เสนอโดยพรรครัฐบาลซึ่งอาจเป็นการเปิดทางให้ ทักษิณ กลับประเทศโดยไม่ต้องชดใช้โทษจำคุก ขณะที่เขาอ้างว่าคำพิพากษาดังกล่าวมีแรงจูงใจทางการเมือง ต่อมาพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกปฏิเสธโดยสมาชิกวุฒิสภา แต่พรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรที่รวมตัวประท้วงบนท้องถนนได้ยกระดับความต้องการและตอนนี้เรียกร้องโค่นล้มรัฐบาล
ณ ขณะที่สถานการณ์ทางเมืองของไทยสามารถเกิดจุดผกผันได้ทุกเสี้ยววินาที ทางสำนักข่าวเอเอฟพี จึงแสดงทัศนะต่อความเป็นไปได้ของสถานการณ์ไว้ดังนี้
สถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้
- ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะอึกอักในการใช้กำลังสลายการชุมนุม หลังการปราบปรามของทหารต่อกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงโดยรัฐบาลชุดก่อนเมื่อปี 2010 เป็นผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 90 ศพ และเกือบ 1,900 คนได้รับบาดเจ็บ
ความหวังที่ดีที่สุดของยิ่งลักษณ์ คือ ให้การประท้วงยุติลงอย่างสันติ ถ้าเป็นไปได้ก็ก่อนหน้าวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม
ทั้งนี้ เธอสามารถยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าพรรคของเธอจะยังคงได้รับชัยชนะอยู่ดี แม้อาจมีที่นั่งในรัฐสภาลดลงบ้างก็ตาม อย่างไรก็ดี เธอไม่สามารถยุบสภาได้จนกว่าสิ้นสุดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันพฤหัสบดี (28) ที่เธอได้รับคาดหมายว่าจะรอดพ้นมติอย่างสบายๆ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเอเอฟพีบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่คนเสื้อแดงจะตัดสินใจยกระดับการเคลื่อนไหวประท้วงสนับสนุนรัฐบาลเช่นกัน เพิ่มความเสี่ยงของการปะทะกันระหว่างสองฝ่ายคู่อริทางการเมือง
ความเป็นไปได้ที่กองทัพหรือศาลเข้าแทรกแซง
เค้ารางแห่งความเป็นไปได้ของการเข้าแทรกแซงของทหารยังคงมีอยู่เสมอในไทย ซึ่งนับตั้งแต่ปี 1932 มีการก่อหรือพยายามก่อรัฐประหารมาแล้ว 18 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือปี 2008 ที่เหล่านายพลผู้จงรักภักดีปฏิบัติการโค่นล้มทักษิณ อย่างไรก็ตามเอเอฟพีบอกว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่พบสัญญาณว่าทหารกำลังเตรียมการเข้าแทรกแซงใดๆ
ในความเห็นของเอเอฟพีบอกด้วยว่า ศาลก็มีประวัติเข้าแทรกแซงทางการเมืองเช่นกัน ทั้งยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค พร้อมอ้างเหล่านักสังเกตการณ์บางส่วนเชื่อว่าข้อกล่าวหาคอรัปชันต่างๆ นานาต่อพรรครัฐบาลอาจมีรูปแบบจากพื้นฐานของตุลาการรัฐประหารอีกครั้ง