อัลญะซีเราะห์ - สื่อดังจากอาหรับติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ราชดำเนินเมื่อวันอาทิตย์ (24) ชี้ปวงชนชาวไทยมากมายหลายแสนพร้อมใจออกมาคัดค้านแผนการนิรโทษกรรม "แม้ว” และต่อยอดกลยุทธ์ดาวกระจายนำมวลชนเดินขบวนทั่วกรุงเทพฯ ในวันจันทร์ (25) พร้อมทั้งบุกยึดกระทรวงการคลังเพื่อโค่นล้มรัฐบาลและขจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซาก กระนั้น ยิ่งลักษณ์ยังคงท่องคาถา "ไม่ยุบสภา-ไม่ลาออก” แต่นักวิเคราะห์ชี้ทางเลือกของรัฐบาลเหลือน้อยแล้ว
เบื้องต้นโทรทัศน์อัลญะซีเราะห์ที่มีฐานอยู่ในกาตาร์รายงานเมื่อวันจันทร์ว่า ตำรวจปราบจลาจลเฝ้าระวังอย่างแน่นหนา ขณะที่ผู้ประท้วงราว 30,000 คนตะโกน “ออกไป!” ระหว่างปฏิบัติภารกิจดาวกระจายแยกย้ายไปตามที่ทำการรัฐบาล กองบัญชาการกองทัพ และสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง เพื่อเรียกร้องให้ข้าราชการเข้าร่วมการต่อต้านระบอบทักษิณ
“เราจะประท้วงอย่างสันติด้วยการเป่านกหวีดและนำดอกไม้ไปมอบให้” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ และปัจจุบันเป็นแกนนำการชุมนุมที่ราชดำเนิน ประกาศกลางที่ชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงว่า มีประชาชนร่วมชุมนุม 180,000 คน ขณะที่ตำรวจประเมินว่ามี 100,000 คนเท่านั้น ซึ่งแตกต่างลิบลับจากตัวเลขที่แกนนำการชุมนุมและนักวิชาการอิสระบางคนระบุว่า มีมากกว่าล้านคน
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาผู้ประท้วงก็พากันบุกเข้าไปยังกระทรวงการคลังยกระดับการโค่นล้มรัฐบาลและเพื่อยุติสิ่งที่พวกเขาอ้างถึงนั่นคืออิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร โดยอัลญะซีเราะห์ระบุว่าฝูงชนหลั่งไหลเข้ายังพื้นที่สนามหญ้าและเข้าไปยังอาคารต่างๆ ในนั้นคือตัวกระทรวงเองและสำนักงบประมาณ ในปฏฺิบัติการที่อาจหาญที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว และไม่นานหลังจากเข้าไปยังกระทรวงฯแล้วก็มีการตัดน้ำตัดไฟ
รายงานของโทรทัศน์อัลญะซีเราะห์ระบุว่าการบุกยึดดังกล่าวเป็นหนึ่งในจุดที่มีการเผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียดตลอดทั้งวัน หลังจากผู้ประท้วงพากันดาวกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ 13 จุดทั่วกรุงเทพฯ ทำการจราจรติดขัดและเพิ่มความกังวลว่าอาจเกิดความรุนแรงขึ้นท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ของไทย
กระนั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำที่ร่อนเร่หนีคุกอยู่นอกประเทศ ยังคงเพิกเฉยต่อแรงกดดันของกลุ่มผู้ชุมนุม
ยิ่งลักษณ์แถลงในวันจันทร์ว่า ไม่มีเจตนาจะลาออกหรือยุบสภาแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่า คณะรัฐมนตรียังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แม้ต้องเผชิญความยุ่งยากบางประการ
“ทุกฝ่ายต่างแสดงเป้าหมายทางการเมือง ถึงตอนนี้พวกเขาต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางออกอย่างสันติสำหรับประเทศ”
ทั้งนี้ การชุมนุมประท้วงปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนที่แล้ว สืบเนื่องจากแผนการของรัฐบาลในการนิรโทษกรรมทักษิณที่ร่อนเร่หนีคดีอยู่นอกประเทศนับจาก พ.ศ. 2551 รวมทั้งผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามกลุ่มเสื้อแดงเมื่อ พ.ศ. 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน
แม้ขณะนี้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวตกไป แต่การชุมนุมกลับยกระดับสู่การเรียกร้องให้รัฐบาล รวมทั้งยิ่งลักษณ์ ซึ่งตกเป็นเป้าหมายการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันอังคาร (26) ลาออก
นอกจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญยังคัดค้านแผนการของยิ่งลักษณ์ในการแก้กฎหมายเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อันจะทำให้เธอสามารถรวบรัดอำนาจทั้งสภาสูงและสภาล่างไว้ในกำมือ
“สัปดาห์นี้ถือเป็นช่วงเวลาล่อแหลม รัฐบาลมีทางเลือกจำกัดมาก” ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิเคราะห์การเมืองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็น
"มันเป็นเรื่องยากมากๆสำหรับยิ่งลักษณะที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป แล้วปล่อยให้ทุกอย่างผ่านพ้น" เขากล่าว
“นี่เป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สมควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์” เวโรนิกา เปโดรซา ผู้สื่อข่าวของอัลญะซีเราะห์รายงานทิ้งท้ายจากเวทีการชุมนุมราชดำเนิน "ประชาชนพร้อมใจกันออกมาขับไล่นายกรัฐมนตรีและกำจัดอิทธิพลของพี่ชายของเธอ พวกเขาต้องการรื้อถอนเครือข่ายเหล่านั้น"