เอพี/เอเอฟพี - มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 ราย และอีกหลายแสนคนต้องอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย หลังไซโคลนเฮเลนซัดถล่มทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ด้วยลมกระโชกแรงและฝนตกหนักในวันศุกร์ (22) อย่างไรก็ตามคาดหมายว่าพายุลูกนี้จะค่อยๆอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน
“ไซโคลนเฮเลนขึ้นฝั่งแล้ว” เจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติอินเดียบอกกับเอเอฟพี ขณะที่ฝนได้ซัดกระหน่ำรัฐอานธรประเทศทางใต้ของอินเดียอย่างหนัก ก่อความวุ่นวายแก่วิถีชีวิตชาวบ้านและเสาไฟฟ้าหลายต้นหักโค่น
รากูวิรา เรดดี รัฐมนตรีจัดเก็บรายได้แห่งรัฐอานธรประเทศเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 6 ราย หลังถูกต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่นลงมาทับ รวมถึงโดนกระแสน้ำซัด แม้ว่าก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี (21) ได้มีการอพยพผู้คนจำนวนมากไปยังพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรับมือกับพายุซึ่งถาดโถมเข้ามาในเวลาไม่ถึงเดือนตามหลังไซโคลนรุนแรงไพลิน ได้พัดถล่มคร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อย 18 รายและทิ้งซากความเสียหายไว้เป็นทางยาวตามแนวชายฝั่งรัฐอานธรประเทศ และรัฐโอริสสา ทางตะวันออกของอินเดีย
เจ้าหน้าที่ของสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติคาดเดาว่าจะยังคงมีฝนตกลงมาอย่างหนักใน 3 เขตตามแนวชายฝั่งของรัฐอานธรประเทศ ช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดียระบุว่าไซโคลนลูกนี้ซัดถล่มรัฐอานธรประเทศ ด้วยความเร็วลมราว 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม คาดหมายว่ามันจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันในช่วงค่ำวันศุกร์(22)
รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้อพยพประชาชนหลายแสนนอกจากเส้นทางของพายุและรุดส่งทีมฉุกเฉินเข้าไปยังพื้นที่ตามต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับลมกระโชกแรงและภาวะฝนตกหนัก “มีการเคลื่อนย้ายประชาชนหลายแสนคน เราคาดหมายว่าน่าจะมีผู้อพยพราวๆ 400,000 คน” เจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติระบุ พร้อมเตือนถึงภาวะคลื่นลมแรงในทะเลนอกชายฝั่งรัฐอานธรประเทศระหว่าง 12 ชั่วโมงข้างหน้า
คณะผู้ช่วยเหลือราว 20 ทีมถูกส่งเข้าประจำการในพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือประชาชน ด้วยมีความคาดหมายว่าอิทธิพลของไซโคลนลูกนี้อาจสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างและก่ออุทกภัยในบางพื้นที่
เฮเลน มีความรุนแรงไม่เทียบเท่ากับไซโคลนไฟลลิน ซึ่งซัดถล่มชายฝั่งทางตะวันออกไล่ไปจนถึงทางเหนือของอินเดียในเดือนตุบลาคม โดยมันถาโถมเข้าใส่รัฐอานธรประเทศ ด้วยกำลังลมกว่า 200 กิโลเมตรต่อชัวโมง ทำต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่น รถบรรทุกหงายท้องและน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 1999 เคยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 8,000 ศพ เมื่อพายุไซโคลนลูกหนึ่งซึ่งพัดถล่มพื้นที่เดียวกันนี้ ได้สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับพื้นที่ทางการและการเลี้ยงสัตว์ และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้