บีบีซี - บีบีซีออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาวะการเมืองไทยโดยนายโจนาธาน เฮด ระบุร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเรียกแขกจากสารพัดทิศ ประชาชนทุกสีทุกหมู่เหล่าออกมาประท้วงรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว ชี้ “ทักษิณ” คำนวณพลาดทำเพื่อไทยถอยกรูดอย่างน่าอับอาย พร้อมเชื่อหนนี้ไม่มีรัฐประหารเหตุรัฐบาลปูมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ
บทวิเคราะห์ทางการเมือง “How will Thailand's amnesty bill row end?” ของนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำในกรุงเทพฯ เกริ่นว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงเวลาแห่งความสงบของการเมืองไทยสั่นไหวอีกครั้ง ประชาชนหลายหมื่นคนรวมตัวกันบนท้องถนนนในกรุงเทพฯ ย้อนให้นึกถึงความเคลื่อนไหวประท้วงต่างๆ นานาในช่วงทศวรรษหลังสุด อันนำมาซึ่งการก่อรัฐประหาร ปิดสนามบิน ศาลมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี 2 รายพ้นจากตำแหน่งและปฏิบัติการของทหารในปี 2010 อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 ศพ
บทความระบุต่อไปว่า ในช่วง 3 ปีหลังสุดแทบไม่เห็นความต้องการเผชิญหน้าและไม่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเมื่อเดือนที่แล้ว หลังพรรคเพื่อไทยของทักษิณ ขยายขอบเขตร่างนิรโทษกรรมอย่างกะทันหัน จากเบื้องต้นที่ครอบคลุมแค่ประชาชนคนธรรมดาที่โดนข้อหาเกี่ยวกับการประท้วงในอดีต ไปสู่การยกโทษให้กับทุกความผิดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองย้อนกลับไปจนถึงปี 2004
บีบีซีระบุดูเหมือนว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้จะไม่ได้แค่ล้มล้างความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบของทักษิณเองเมื่อปี 2008 เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้รับผิดชอบสั่งการให้ทหารเปิดฉากยิงเข้าใส่ผู้สนับสนุนของเขาในปี 2010 ด้วย นอกจากนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คาดหมายด้วยว่าอาจมีคดีคอรัปชันอีก 25,331 คดีที่ได้รับผลกระทบจากข้อเสนอนิรโทษกรรมนี้
บทเกริ่นของ เฮด ระบุด้วยว่าคำพิพากษาเดียวที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ครอบคลุมคือประชาชนหลายร้อยคนซึ่งถูกดำเนินคดีหมิ่นเบื้องสูง และดูเหมือนว่ามันเป็นความพยายามเปิดประตูต้อนรับทักษิณกลับบ้าน หลังจากต้องหลบหนีไปอยู่ในต่างแดนมานานกว่า 5 ปีเสียมากกว่า
เป็นหนึ่งเดียว
นายเฮดระบุว่า การประท้วงครั้งนี้เต็มไปด้วยอารมณ์ร่วมและแผ่ลามไปอย่างกว้างขวาง ฝ่ายต่อต้านมาจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ผู้พิพากษา คณะแพทย์ พยาบาล นักเรียน พนักงานออฟฟิศ และพรรคประชาธิปัตย์ที่มีจุดยืนต่อต้านทักษิณมาช้านาน เช่นเดียวกับฝ่ายคนเสื้อเหลืองที่ช่วยเขี่ยเขาและพันธมิตรพ้นจากเก้าอี้ระหว่างปี 2006 ถึง 2008
ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายนี้ระบุว่า มีการประท้วงด้วยการเป่านกหวีดในย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ปักหลักชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมเล็กๆ อื่นๆ อีกมากมายหลายจุด และแม้แต่คนเสื้อแดงเอง ที่เคยสนับสนุนทักษิณ ตอนนี้ก็ออกมาคัดค้านพระราชบัญญัติเช่นกัน
“ตอนนี้มันมากกว่าเรื่องพรรคการเมือง มันเกี่ยวกบการโค่นกฎหมายที่คนทั้งประเทศร่วมกันต่อต้านมัน” บทความของนายเฮด อ้างคำสัมภาษณ์ของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลัง ซึ่งลาออกจากตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อนำการประท้วงกล่าว
ความพ่ายแพ้ที่น่าอับอาย
บีบีซีรายงานว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านความเห็นชอบจากสภาล่างอย่างสะดวกโยธิน จากการครองเสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทยและพันธมิตร โดยตอนนี้มันถูกส่งต่อไปยังสภาบนหรือวุฒิสภาเพื่อลงมติเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม นายเฮดชี้ให้เห็นว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแทบไม่เคยเห็นการปฏิบัติตามบทบาทตามรัฐธรรมนูญในฐานะผู้ตรวจสอบพฤติกรรมของสภาล่างเลย
แม้ภายใต้รัฐบาลของทักษิณ ช่วงปี 2001-2006 วุฒิสภาเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แต่จากอิทธิพลของพรรคทักษิณ และด้วยนักการเมืองทรงอิทธิพลมักหาญาติๆ และหุ่นเชิดเข้ามาสมัครชิงเก้าอี้ส.ว. กระบวนการของสภาบนจึงแทบไม่มีประโยชน์ใดๆ
หลังรัฐประหารปี 2006 รัฐธรรมนูญใหม่เปลี่ยนวุฒิภาให้ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง ในความหวังลดอิทธิพลของพรรคการเมือง แต่ที่สุดแล้วก็ยังแทบไม่เคยทัดทานรัฐบาลเลย
หลายฝ่ายคาดหมายในพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้กับร่างนิรโทษกรรม แต่ประธานวุฒิสภาก็ออกมาแถลงว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะปฏิเสธร่าง พ.ร.บ.นี้ และไม่ว่าปฏิกิริยาขัดขืนนี้มาจากเสียงต่อต้านของประชาชนที่ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ หรือสำนึกของ ส.ว.เอง พวกเขาก็มีกำหนดเปิดพิจารณาร่างฯนี้ในวันที่ 8 พฤศจิกายน โดยหากเป็นดังนั้นร่างฯ ก็จะถูกตีกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถหยิบยกมาหรือใช้แนวทางอื่นๆ ได้เป็นเวลา 180 วัน
ในถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่าเธอจะปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของ ส.ว.และรัฐบาลจะเคารพต่อคำตัดสินนี้ ด้วยความเคลื่อนไหวดังกล่าวทางนายเฮด ให้ความเห็นว่าทุกสัญญาณได้บ่งชี้ว่าพรรคเพื่อไทยกำลังมุ่งหน้าการล่าถอยอย่างน่าอับอาย พร้อมตั้งคำถามว่าพรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภาอย่างหนักแน่นและมีความมั่นใจอย่างที่สุดนับตั้งแต่เข้ามาทำงาน เกิดพลาดท่าเสียทีได้อย่างไร
คำนวณพลาด
นายเฮดระบุว่า พ.ร.บ.นิโทษกรรมดำเนินการโดยทักษิณ หลังตลอดการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์นั้นมักถูกกล่าวหาว่าเป็นแค่หุ่นเชิดและทุกการตัดสินใจสำคัญๆ มาจากพี่ชายของเธอ
แม้ข้อกล่าวหานี้ไม่สามารถนำมาอ้างได้เสมอไปและรูปแบบการบริหารงานในลักษณะประนีประนอมก็ได้รับเสียงชื่นชมจากฝ่ายตรงข้ามของเธอเอง ทว่าในเรื่องนิรโทษกรรมนี้เป็นประเด็นส่วนตัวที่มีโต้เถียงหนักหน่วงที่สุดของนายกรัฐมนตรีหญิงรายนี้ต้องเผชิญ
ยิ่งลักษณ์ เลือกที่จะไม่เข้าร่วมประชุมสภาในวันที่มีการลงมติรับรอง พ.ร.บ.และย้ำว่ามันเป็นเรื่องของพรรค ไมใช่ความต้องการของเธอ ขณะเดียวกัน ทักษิณ ให้สัมภาษณ์จากต่างแดนยืนยันว่าการนิรโทษคือทางที่ดีที่สุดสำหรับขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า และรีเซตประเทศกลับคืนสู่ความเป็นศูนย์ ละทิ้งความขัดแข้งทั้งหมดซึ่งเริ่มต้นขึ้นระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม บีบีซีระบุว่า ผลก็คือมันถูกคัดค้านและจุดชนวนแม่เหล็กในสังคมอีกครั้งหลังจากได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับเต็ม ประชาชนหลากหลายอาชีพออกมาคัดค้าน กระนั้น นายเฮดมองว่าคราวนี้แตกต่างจากการประท้วงในช่วงต้นปี 2006 ซึ่งหนนั้นกดดันจนทักษิณ ต้องยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ก่อนท้ายที่สุดจะลงเอยด้วยรัฐประหารเดือนกันยายน
นายเฮดเล่าย้อนกับไปว่า ในคราวนั้นทักษิณคำนวนปฏิกิริยาของประชาชนผิดพลาดต่อการขายหุ้นชินคอร์ปเพื่อสร้างรายได้แก่ครอบครัว และคราวนี้ก็ดูเหมือนว่าเขาจะทำเลยเถิดอีกครั้ง แม้ว่ามีข้อแตกต่างสำคัญบางอย่างก็ตาม
ผู้สื่อข่าวของบีบีซีรายนี้ระบุว่า คราวนี้พรรคเพื่อไทยทำงานหนักในความพยายามสานสัมพันธ์กับกองทัพ และในบางครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก็หลบเป้าสายตาในการออกความเห็นเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมและการประท้วง ดังนั้นโอกาสเกิดรัฐประหารอีกครั้งเป็นเรื่องยาก
ในเรื่องนี้นายเฮดมองว่าหากรัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้องเพื่อลดกะแสการชุมนุม ก็เป็นเรื่องยากที่ผู้ประท้วงรักษาแรงขับเคลื่อนเอาไว้ได้ เมื่อนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องกลับมาเจอสภาวะเดิมๆ นั่นคือจะเอาชนะทักษิณได้อย่างไรในศึกเลือกตั้ง ไม่ว่าเขาจะอยู่ในหรือนอกประเทศ มันเป็นสภาวะที่พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทยยังไม่มีคำตอบ