เอเอฟพี – กลุ่มต่อต้าน ซึ่งจัดทำหนังสือคัดค้านกฎหมายห้ามซื้อบริการทางเพศ กำลังจุดชนวนให้เกิดความขุ่นเคืองในฝรั่งเศส เหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับการโต้แย้งเรื่องการขายและซื้อบริการทางเพศ ที่ระอุคุกรุ่นอยู่เป็นทุนเดิม
“เราเห็นว่าทุกคนมีสิทธิที่จะขายเสน่ห์ของตัวเองอย่างเสรี รวมทั้งสิทธิในการมีความต้องการที่จะทำเช่นนั้น” นี่เป็นข้อความตอนหนึ่งในหนังสือฉบับดังกล่าว ซึ่งจะถูกนำเผยแพร่ในฉบับประจำเดือนพฤศจิกายนของ “โกเซอร์” นิตยสารแนวเน้นการแสดงความคิดเห็น
“เราทั้งหมด ขอประกาศว่า อย่ามาแตะต้องโสเภณีของฉัน!” หนังสือร้องเรียนประชาชนฉบับนี้บอก และระบุด้วยว่า “เราไม่ต้องการให้พวกสมาชิกสภาใช้กฎหมายบังคับความปรารถนา และความพึงพอใจของพวกเรา” ซึ่งเป็นความพยายามตอบโต้ร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสู่รัฐสภา โดยมีหลักการมุ่งเพิ่มการคุ้มครองโสเภณีในฝรั่งเศส และลงโทษผู้ซื้อบริการทางเพศ
ปัจจุบัน ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่อนุญาตให้ค้าประเวณีได้ แต่การเรียกแขก การเป็นนายหน้าจัดหาลูกค้าให้โสเภณี และการให้ผู้เยาว์ขายบริการทางเพศถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ร่างกฎหมายนี้ ซึ่งมีกำหนดนำมาถกกันในปลายเดือนพฤศจิกายนนั้น มุ่งยุติการค้าประเวณี ด้วยวิธีการลงโทษลูกค้าแทนผู้ค้าบริการ โดยตั้งค่าปรับ 1,500 ยูโร (ราว 63,896 บาท) กับผู้ซื้อบริการทางเพศ และจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหากจับได้ว่าเป็นการทำผิดซ้ำสอง
ทั้งนี้ มีบุคคลสำคัญหลายคนลงนามในหนังสือร้องเรียนประชาชนฉบับนี้ เป็นต้นว่า นักเขียนชื่อดังของฝรั่งเศส อย่าง เฟรเดริก เบกเบเดร์ และทนายความริชาร์ด มัลกา
“เราไม่ได้ปกป้องการค้าประเวณี แต่เรากำลังปกป้องเสรีภาพ” หนังสือร้องเรียนประชาชนฉบับนี้กล่าว “และเมื่อรัฐสภาเข้ามาแทรกแซงด้วยการออกกฎหมายเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ ก็ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพของประชาชนทุกคน” หนังสือฉบับนี้ระบุ
หนังสือที่มีชื่อว่า “Manifesto of 343 bastards” (แถลงการณ์ของคนเลว 343 คน) ฉบับดังกล่าว ถูกตั้งชื่อให้คล้องจองกับหนังสืออีกฉบับหนึ่งเมื่อปี 1971 ซึ่งถูกนำออกเผยแพร่โดยผู้หญิง 343 คน ที่พวกเธอประกาศว่าเคยทำแท้งในขณะที่เวลานั้นการทำแท้งยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามไม่เป็นที่ชัดเจนว่า มีผู้ชายลงนามในหนังสือคัดค้านกฎหมายค้าประเวณีนี้กี่คน
อย่างไรก็ตาม มีประชาชนประณามหนังสือฉบับนี้ผ่านทวิตเตอร์อย่างกว้างขวาง และเมื่อวานนี้ (30) นาจาต์ วัลโลด์-เบลกาเซม รัฐมนตรีของกระทรวงสิทธิสตรี และโฆษกหญิงของรัฐบาลฝรั่งเศสก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน
เธอแถลงว่า หนังสือปี 1971 นั้นลงนามโดยสตรี “ที่เรียกร้องสิทธิในการตัดสินใจอย่างอิสระว่า จะทำอย่างไรกับร่างกายของตนเอง แต่แถลงการณ์ของคนเลว 343 คนกลับเรียกร้องสิทธิในการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับร่างกายของผู้อื่น”
ในเวลาเดียวกัน เครือข่าย “เซโรมาโช” (Zeromacho) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ชายเกือบ 2,000 คน เพื่อต่อต้านการค้าประเวณี ก็ออกมากล่าวประณามคำแถลงนี้เช่นกัน
“แถลงการณ์ของพวกปฏิกิริยาอ้างว่า ความต้องการที่จะกำจัดการค้าประเวณีให้หมดไปเป็นการประกาศ “สงครามกับผู้ชาย” แต่จริงๆ แล้วตรงกันข้ามเลย พวกเราสมาชิกกลุ่ม เซโรมาโช ยืนกรานว่า การต่อสู้เพื่อกำจัดอาชีพโสเภณีนั้น โดยสาระสำคัญที่สุดแล้วเป็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกัน