รอยเตอร์ – รัฐบาลชุดใหม่ของออสเตรเลียยังคงสั่งห้ามมิให้ “หัวเว่ย” (Huawei) บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน ร่วมประมูลโครงการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แห่งชาติ (NBN) มูลค่า 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามถ้อยแถลงของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเมืองจิงโจ้ วันนี้ (29)
รัฐบาลพรรคแรงงานเคยสั่งห้าม หัวเว่ย ร่วมประมูลสัญญาก่อสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในออสเตรเลียซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว โดยอ้างถึงปัญหาความปลอดภัยไซเบอร์ และล่าสุดรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ ก็ประกาศใช้จุดยืนเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสาร มัลคอล์ม เทิร์นบัล ออกมาสนับสนุนให้ออสเตรเลียทบทวนคำสั่งแบน จนเป็นที่คาดหมายว่า หัวเว่ย น่าจะได้รับโอกาสเข้าร่วมประมูลในที่สุด
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมออสเตรเลีย จอร์จ แบรนดิส ยืนยันแล้วว่า รัฐบาลยังไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งแบน หัวเว่ย แต่อย่างใด
“รัฐบาลได้ทราบข้อมูลจากหน่วยงานด้านความมั่นคง และเห็นว่ายังไม่ควรเปลี่ยนแปลงนโยบายเดิมที่ใช้อยู่” แบรนดิส ระบุในอีเมล์ที่ส่งถึงรอยเตอร์ แต่ไม่ขอเผยรายละเอียดคำแนะนำที่ได้รับมาจากหน่วยงานเหล่านั้น
“รัฐบาลชุดก่อนห้าม หัวเว่ย ร่วมประมูลโครงการ NBN ก็ด้วยคำแนะนำจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งก็ผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายค้านในเวลานั้น หลังจากที่เราได้รับข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงเช่นกัน”
ด้านจีนก็แสดงความกังวลกับท่าทีของรัฐบาลออสเตรเลีย โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หัวชุนหยิง กล่าวในงานแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่งว่า “เรายืนยันมาตลอดว่า ไม่สมควรที่ฝ่ายใดจะยกปัญหาความปลอดภัยมาอ้างเพื่อแทรกแซงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ”
แม้คำสั่งแบน หัวเว่ย อาจสร้างความขุ่นเคืองต่อจีนในช่วงที่ปักกิ่งและแคนเบอร์ราอยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี แต่ก็น่าจะเป็นที่พึงพอใจของสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วคณะกรรมการข่าวกรองแห่งสภาผู้แทนราษฎรเคยประกาศให้ หัวเว่ย เป็น “ภัยคุกคามต่ออเมริกา” และยังเตือนมิให้บริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมซึ่งมีฐานที่เมืองเซินเจิ้นด้วย
สหรัฐฯเชื่อว่า อุปกรณ์สื่อสารของ หัวเว่ย ถูกรัฐบาลจีนใช้เป็นเครื่องมือสอดแนม ซึ่งทางบริษัทยืนกรานปฏิเสธ