เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ผลสำรวจล่าสุดในสหรัฐฯชี้ พวกลูกจ้างมักขอ “ลาป่วย” ทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วยจริงตามที่ยื่นใบลาไว้กับผู้บังคับบัญชา
ผลสำรวจล่าสุดในสหรัฐฯที่มีการรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 13 สิงหาคม จนถึง วันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาโดยบริษัท “แฮร์ริส อินเตอร์แอ็คทีฟว์” และมีการนำออกมาเผยแพร่ในวันพุธ (23) ในนามของเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง “แคเรียร์บิลเดอร์” ระบุว่า 32 เปอร์เซ็นต์หรือราว 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็น 3,484 คน ยอมรับว่า พวกเขามักขอลาป่วย ทั้งที่ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยจริงๆ
ผลสำรวจดังกล่าวยังพบว่า มีจำนวนลูกจ้างที่ยอมรับว่าแกล้งป่วย และขอลางานในปีนี้ เพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับการสำรวจในปีที่แล้ว และในบางกรณี บรรดาลูกจ้างก็ยอมรับว่ามีการ “วางแผนไว้ล่วงหน้า” ว่าจะขอลาป่วยในวันที่พวกเขาต้องการ
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจยังพบว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นลูกจ้างในสหรัฐฯยอมรับว่า พวกเขาจะยอมฝืนสังขารไปทำงานในวันที่พวกเขาป่วยจริงเพื่อ “ประหยัดวันลาป่วย” เอาไว้ใช้ในโอกาสอื่นๆ เช่นในวันที่พวกเขาขี้เกียจไปทำงาน เป็นต้น
ในทางกลับกัน กลุ่มตัวอย่างที่เป็น “นายจ้าง” ราว 19 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่า พวกเขาจะแอบเข้าไปเช็คความเคลื่อนไหวในเว็บไซต์จำพวก “โซเชียลมีเดีย” เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ของลูกน้องในวันที่ผู้ใต้บังคับบัญชารายนั้นๆมีการลาป่วย เพื่อตรวจสอบดูว่า ลูกน้องของตนเจ็บป่วยจริงหรือไม่ ขณะที่อีก 64 เปอร์เซ็นต์ของนายจ้างต้องการใบรับรองแพทย์มายืนยันในการลาป่วยแต่ละครั้ง
ทั้งนี้ เว็บไซต์แคเรียร์บิลเดอร์เผยว่า เหตุผลยอดนิยมที่ทำให้ลูกจ้างขอลางานมากที่สุด คือ “รู้สึกขี้เกียจไปทำงาน” คิดเป็นสัดส่วนราว 33 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ 28 เปอร์เซ็นต์ให้เหตุผลว่า พวกเขารู้สึกเหนื่อยล้ากับการทำงาน และต้องการการพักผ่อน ขณะที่ 19 เปอร์เซ็นต์ระบุเหตุผลง่ายๆ ว่า “อยากนอน” ส่วนราว 14 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า พวกเขาจำเป็นต้องลาป่วยเพื่อเอาเวลาไปทำกิจธุระจำเป็นอื่นๆ