xs
xsm
sm
md
lg

‘ลา’พยาบาลสำหรับ‘ผู้หญิงท้องแก่’ขี่ไปหาหมอ

เผยแพร่:   โดย: อองตวน บลัว


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

"Donkey ambulance" rides to the rescue
By Antoine Blua
30/09/2013

สิ่งประดิษฐ์ใหม่ซึ่งมุ่งประสงค์ให้สามารถนำเอาบรรดาคุณแม่ตั้งครรภ์ในอัฟกานิสถาน ข้ามภูเขาอันสูงชัน ไปส่งยังศูนย์สาธารณสุขเพื่อรับการตรวจรักษาที่จำเป็นและการคลอดลูกที่สุขลักษณะ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ซึ่งเป็นอานขี่ลาแบบพองลมนั่งสบายนี้ สามารถผ่อนคลายความยากลำบากในการเดินทางขณะท้องแก่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากตัดสินใจคลอดเองที่บ้าน และเสี่ยงต่อการไม่ได้รับการดูแลรักษาหากเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นมา

อัฟกานิสถานเป็นทั้งหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตของมารดาและทารกสูงที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีลาอยู่เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น จึงมีการคิดประดิษฐ์อานขี่ลาสำหรับหญิงท้องแก่ ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้สามารถนำสตรีใกล้คลอดทั้งหลายเดินทางข้ามภูมิประเทศอันทุรกันดารของอัฟกานิสถาน เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาทางการแพทย์ที่พวกเธอสมควรจะได้รับ

ทั้งนี้องค์การการกุศลของอังกฤษที่มีนามว่า “เฮลธ์พรอม” (HealthProm) และ นักออกแบบชื่อ ปีเตอร์ มักเคิล (Peter Muckle) ได้ช่วยกันค้นคว้าพัฒนาอานขี่ลาแบบเป่าให้พองลมได้ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายภาระความลำบากให้แก่ผู้หญิงที่กำลังใกล้จะคลอด ตามพื้นที่ห่างไกลต่างๆ ของอัฟกานิสถาน

การขาดไร้การคมนาคมขนส่งที่เหมาะสมในพื้นที่แถบภูเขาสูงชันเช่นนี้เอง ทำให้สตรีมีครรภ์จำนวนมากตัดสินใจเลือกไม่เดินทางไปยังศูนย์สาธารณสุข และหันมาคลอดบุตรที่บ้าน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้นมากถ้าเกิดมีอาการแทรกซ้อนขึ้นมา

ตามคำบอกเล่าของมักเคิล สิ่งประดิษฐ์ของเขาทำให้มีหนทางง่ายๆ และสะดวกสบายสำหรับหญิงท้องแก่ที่จะได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ตามที่พวกเธอพึงจะได้รับ

“ทางเฮลธ์พรอมพบว่า อัฟกานิสถานไม่มีวิธีสะดวกสบายใดๆ เลยสำหรับให้ผู้หญิงเดินทางเพื่อไปคลอดลูก” เขาแจกแจง “แล้วพวกเขายังพบด้วยว่าถ้าหากพวกเธอมีโอกาสไปคลอดตามศูนย์สาธารสุขต่างๆ ก็มีโอกาสสูงขึ้นมากที่ทั้งแม่และลูกจะรอดชีวิต”

เวอร์ชั่นสุดท้ายของประดิษฐกรรมที่ได้รับสมญาว่า “ลาพยาบาล” (donkey ambulance) นี้ กลายเป็นจุดเด่นในงานนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีการแพทย์ประหยัดราคาถูก ซึ่งจัดขึ้นในกรุงลอนดอนเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

มักเคิลตัดเย็บและประกอบอานขี่ลานี้ โดยใช้ทั้งวัสดุซึ่งมาจากหมอนลมที่ใช้ในเวลาตั้งแคมป์, ที่วางแขนซึ่งมาจากที่นอนพองลม, และชิ้นส่วนของเก้าอี้นอนริมสระน้ำชนิดพองลม

**เสียงตอบรับในทางบวก**

อานขี่ลาพองลมต้นแบบที่มีการออกแบบและมีขนาดแตกต่างกันไปจำนวน 4 ชุด ได้ถูกนำมาประเมินผลและทำการทดสอบตลอดระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ในเขตชาร์เคนต์ (Charkent) ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาที่อยู่ในจังหวัดบัลค์ (Balkh) ทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน

หลังจากนั้นจึงนำเอาส่วนประกอบที่ดีที่สุดของอานต้นแบบทั้ง 4 ชุด มาประกอบกันเป็นดีไซน์สุดท้าย

พ.ญ.อาซารา ปาร์ซา (Dr Azada Parsa) ผู้จัดการโครงการช่วยคุณแม่ให้ปลอดภัย (Motherhood Project) ของเฮลธ์พรอม ในเมืองมาซาร์-อี-ชาริฟ (Mazar-e Sharif) ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดบัลค์ บอกว่า เสียงตอบรับที่ปรากฏออกมาเป็นไปในทาง “บวกเอามากๆ”

“อานขี่ลาแบบนี้มีความปลอดภัยมาก และสามารถปกป้องผู้หญิงมีครรภ์ในระหว่างที่เธอเดินทางไปยังศูนย์สาธารณสุข” เธอกล่าว และพูดต่อไปว่า “พวกเธอชอบอานแบบนี้มาก และพวกเธอก็เดินทางมาที่ศูนย์สาธารสุขกันทั้งนั้นเมื่อถึงเวลาใกล้คลอด”

ในเขตชาร์เคนต์ การเดินทางไปยังศูนย์สาธารณสุขหรือไปยังที่อยู่ของนางผดุงครรภ์ อาจต้องใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง โดยที่บ่อยครั้งต้องเดินทางกันในเวลากลางคืน ภายใต้เงื่อนไขที่ทั้งไม่สะดวกสบายและทั้งมีอันตรายต่างๆ

พ.ญ.ปาร์ซากล่าวว่า ด้วยอานขี่ลาแบบใหม่นี้ เธอคาดหวังว่าจะมีผู้หญิงจำนวนเพิ่มขึ้นมากซึ่งจะมีกำลังใจในการเดินทางอันยาวนาน แทนที่จะคลอดลูกที่บ้านในเงื่อนไขที่ขาดสุขลักษณะ และไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากแพทย์พยาบาลผู้ชำนาญการได้

เวลานี้ เฮลธ์พรอม กำลังมองหาทางระดมเงินบริจาคเพื่อจะได้ผลิตและแจกจ่ายอานขี่ลาพองลมเวอร์ชั่นสุดท้าย ซึ่งประมาณการกันว่ามีมูลค่าราว 120 ดอลลาร์ต่อชุด ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในอัฟกานิสถาน

ทั้งนี้ได้มีการคัดเลือกช่างตัดเสื้อผู้หนึ่งซึ่งเคยมีประสบการณ์ทำงานตัดเย็บผ้าน้ำหนักมาก มาทำการตัดเย็บและประกอบอานจำนวน 8 ชุด เพื่อจะได้จัดส่งออกไปภายในปีนี้

เมื่อถึงปีหน้า มักเคิลวาดหวังว่าส่วนประกอบทุกๆ ชิ้นจะสามารถผลิตกันภายในท้องถิ่น และจะพยายามสร้างความเป็นไปได้ที่ใครๆ ก็จะสามารถทำอานแบบนี้ขึ้นได้ด้วยตัวเอง

“ผมจะทำแพตเทิร์น (pattern) เตรียมเอาไว้ ดังนั้นมันจะไม่ใช่ว่าเรากำลังจะขายอานจริงๆ หรอก แต่เรากำลังจะให้แพตเทิร์นแก่ชาวบ้านในที่ต่างๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถลอกเลียนเอาไปทำเอง” เขากล่าว “ ดังนั้นไอเดียจึงอยู่ที่ว่าจะต้องทำเป็นแพตเทิร์นง่ายๆ แต่ใช้งานได้ดีมาก และใครๆ ก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง”

รายงานนี้มาจาก เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ( Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL) ทั้งนี้ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น