xs
xsm
sm
md
lg

‘ลาว’ต้องการแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นอีกมาก

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Laos looks for more workers
By Radio Free Asia
25/09/2013

ทางการลาวระบุว่ามีความต้องการแรงงานต่างชาติอีกกว่า 3 เท่าตัวของระดับในปัจจุบัน เพื่อรับมือกับภาวะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ ถึงแม้ว่าในเวลาเดียวกันนั้นคนท้องถิ่นเองกลับเผชิญกับปัญหาขาดไร้โอกาสในการเข้าทำงานในโครงการใหญ่ๆ อย่างเช่น เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และเหมืองแร่

ลาวมีความต้องการแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 70,000 คน ในขณะที่ประเทศประสบภาวะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือในระบบเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วของตน ทั้งนี้ตามการแถลงของ อ่อนจัน ทำมะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

รัฐมนตรีหญิงผู้นี้ระบุว่า ประเทศของเธอได้ว่าจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาแล้วราว 20,000 คน และจำเป็นจะต้องปรับจำนวนดังกล่าวนี้ให้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 3 เท่าตัวในอนาคตอันใกล้ จึงจะทันท่วงทีกับฝีก้าวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เธอบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในนครเวียงจันทน์เมื่อปลายเดือนกันยายนว่า เนื่องจากกำลังแรงงานภายในประเทศที่ผ่านการฝึกฝนอบรมมาแล้วมีไม่เพียงพอ ดังนั้นในเวลานี้ลาวจึงกำลังต้องการแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนประมาณ 90,000 คนจึงจะสามารถสนองความต้องการของธุรกิจต่างๆ ซึ่งกำลังดำเนินกิจการอยู่ในประเทศนี้ได้

รัฐมนตรีหญิงผู้นี้กล่าวต่อไปว่า คนงานในลาวเองก็ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการฝึกฝนอบรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้มีทักษะความชำนาญต่างๆ อันจำเป็น จึงจะสามารถเข้าแข่งขันอย่างทัดเทียมกับแรงงานของชาติเพื่อนบ้านอาเซียนอื่นๆ ซึ่งต่างก็กำลังจับจ้องตระเตรียมรับการปรากฏขึ้นมาของตลาดที่จะผนึกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ ลาวซึ่งยังคงมีฐานะเป็นประเทศยากจน ได้เปิดประตูต้อนรับการลงทุนที่ไหลทะลักเข้ามาจากชาติเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นจีน, ไทย, หรือเวียดนาม และการลงทุนเหล่านี้ก็ได้ช่วยให้เศรษฐกิจของลาวสามารถทำอัตราเติบโตขยายตัวได้สูงถึงระดับ 8% ต่อปี

ทว่าพวกนักวิจารณ์ยังคงชี้ว่า การลงทุนต่างประเทศเหล่านี้ไม่ได้สร้างตำแหน่งงานและลู่ทางโอกาสอะไรมากมายให้แก่คนลาวอย่างที่ควรจะเป็น โดยที่มีบริษัทต่างชาติจำนวนมากกำลังนำเอาคนงานเป็นพันๆ คนจากประเทศบ้านเกิดของพวกเขาเอง เข้ามาช่วยการก่อสร้างและการบุกเบิกโครงการพัฒนาจำนวนมาก เป็นต้นว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังงาน และเหมืองแร่ต่างๆ

ทั้งนี้ตามกฎหมายแรงงานของลาวนั้น บริษัทใดก็ตามที่ดำเนินงานในประเทศนี้สามารถว่าจ้างแรงงานต่างชาติประเภทไร้ฝีมือได้ไม่เกิน 10% ของกำลังแรงงานของบริษัทนั้นๆ ขณะที่อีก 20% อาจจะใช้คนต่างชาติที่เป็นพวกชำนาญงานทางด้านเทคนิค ทว่าอย่างน้อย 70% ของกำลังแรงงานของพวกเขาจะต้องเป็นการว่าจ้างผู้คนในท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี รายงานข่าวหลายกระแสระบุว่า บริษัทที่ดำเนินงานในลาวยังอาจได้รับอนุญาตเป็นพิเศษเพื่อว่าจ้างคนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น และบริษัทจำนวนมากที่เดียวก็กระทำเช่นนี้ นอกจากนั้นยังมีหลายๆ บริษัทที่นำแรงงานต่างชาติเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ผู้ใช้แรงงานชาวลาวจำนวนนับหมื่นนับแสนคนกลับกำลังแห่ข้ามชายแดนไปทำงานอยู่ในประเทศไทย

ทางด้านนักลงทุนต่างประเทศจำนวนมากบอกว่า พวกเขานิยมนำเอาคนงานของพวกเขาเองเข้ามาในลาว ก็เนื่องจากคนท้องถิ่นที่พวกเขาว่าจ้างมักมีปัญหาไม่มีระเบียบวินัยหรือกระทั่งเชื่อถือไว้วางใจไม่ได้ โดยที่จำนวนมากทีเดียวขาดงานหายหน้าไปเมื่อถึงช่วงเพาะปลูก เพราะพวกเขาเลือกที่จะกลับไปดูแลไร่นาของพวกเขาเองมากกว่า

แต่ก็มีนักลงทุนต่างประเทศไม่น้อยที่กล่าวว่า ข้อบกพร่องฉกรรจ์ที่สุดอยู่ตรงที่โครงการฝึกอบรมทักษะด้านแรงงานต่างๆ ของรัฐบาลลาวนั้นคุณภาพย่ำแย่ จึงไม่อาจช่วยให้คนลาวจำนวนมากขึ้นกว่านี้ได้รับประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา อีกทั้งวงการธุรกิจในท้องถิ่น และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ที่เป็นองค์กรชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ต่างออกมาเตือนว่าภาวะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือเช่นนี้ กำลังกลายเป็นตัวถ่วงไม่ให้ภาคเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มเติบใหญ่จำนวนมาก สามารถขยายไปมากกว่าที่เป็นอยู่

**ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน**

รัฐมนตรีอ่อนจัน กล่าวเตือนว่า ลาวจะต้องให้การฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่กำลังแรงงานในประเทศโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถแข่งขันได้เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ซึ่งจะเป็นการรวมเอาภูมิภาคแถบนี้เข้าเป็นตลาดหนึ่งเดียวกัน เริ่มเดินหน้ามีผลบังคับใช้ในปี 2015

ทั้งนี้สมาคมอาเซียน ซึ่งนอกเหนือจากลาวแล้ว ยังประกอบด้วยบรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย, และเวียดนาม วางแผนการที่จะเปิดให้คนงานในชาติอาเซียนทั้งหลาย สามารถอพยพเคลื่อนย้ายกันได้อย่างเสรีภายในภูมิภาค โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการปฏิรูปสู่ตลาดอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้เริ่มใช้ระบบใหม่ในการรับรองคุณภาพ สำหรับการศึกษาและการฝีกอบรมด้านอาชีพทางเทคนิคของประเทศ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเพิ่มพูนทักษะความชำนาญของกำลังแรงงานของประเทศนี้

ทว่าพวกนักวิจารณ์ระบุว่า พวกโครงการที่มุ่งเพิ่มพูนยกระดับทักษะความชำนาญของแรงงานในท้องถิ่นซึ่งดำเนินการกันอยู่นั้น ยังไม่มีความกว้างขวางครอบคลุมเพียงพอ หรือไม่ก็ยังวางเป้าหมายไม่ถูกต้อง โดยที่มีการผลิตบุคลากรออกมาน้อยเกินไปในภาคส่วนซึ่งมีความต้องการสูง

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์ (Vientiane Times) เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ธุรกิจบางรายต้องประสบความลำบากแม้กระทั่งในการเสาะหาแรงงานเข้ามาทำงานในตำแหน่งงานค่าจ้างต่ำโดยเฉพาะในโครงการสวนยางพาราและในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ในภาคส่วนอย่างเช่นการบริหารธุรกิจ, การเงินและการธนาคาร กลับมีแรงงานมีฝีมือชาวท้องถิ่นในระดับที่ล้นเกินความต้องการ

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ปรึกษาอาวุโสผู้หนึ่งของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติของลาว ได้กล่าวในเวทีเสวนาทางธุรกิจแห่งหนึ่งในนครเวียงจันทน์ว่า ประเทศนี้กำลังขาดแคลนแรงงานมากกว่า 31,000 คนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ, การแปรรูป, การท่องเที่ยว, เหล็กกล้า, เฟอร์นิเจอร์, และการก่อสร้าง ตลอดจนในบริษัทใหญ่ๆ บางแห่ง

หนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น รายงาน 2 ฉบับที่นำออกเผยแพร่โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของลาว ระบุว่าภาวะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ กำลังกลายเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตขยายตัวอันรวดเร็วในอุตสาหกรรมและบริการหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนสำคัญที่กำลังเพิ่งเติบใหญ่ขึ้นมา อย่างเช่น เหมืองแร่, การค้า, ไฟฟ้าพลังน้ำ, โรงแรมและภัตตาคาร, โทรคมนาคม, เทคโนโลยีสารสนเทศ, และสิ่งทอ

รายงานโดย วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาลาว (Radio Free Asia's Lao Service) ราเชล แวนเดนบริงก์ (Rachel Vandenbrink) เป็นผู้เขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น