xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เผย “แรงงานเด็ก” ทั่วโลกลดลง - “ไทย” ติดโผชาติที่ขจัดปัญหา “ลดฮวบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โธมัส เปเรซ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ในงานเปิดตัวรายงานประจำปี
เอเอฟพี – สหรัฐฯ ระบุในรายงานฉบับที่นำออกเผยแพร่วานนี้ (30 ก.ย.) ว่ามี 10 ชาติที่ “ก้าวหน้าอย่างมาก” ในการต่อสู้กับปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศในละตินอเมริกา และเอเชีย

รายงานฉบับนี้เผยว่ามี 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เอริเทรีย และอุซเบกิสถาน ที่มีรัฐบาลสมรู้ร่วมคิดในการใช้แรงงานเด็กแบบบีบบังคับ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุในรายงาน 826 หน้าฉบับนี้ว่า ครึ่งหนึ่งของประเทศและดินแดนกำลังพัฒนารวม 143 แห่ง ที่อยู่ในการสำรวจ ได้สร้างความก้าวหน้าในการขจัดปัญหาแรงงานเด็กอย่างน้อยในระดับพอประมาณ

โดยที่มี 10 ประเทศที่ “ก้าวหน้าไปอย่างมาก” รวมถึงชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศ (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย) และ ชาติละตินอเมริกา 5 ประเทศ (บราซิล ชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู)

นอกจากนี้ เอธิโอเปียก็พัฒนาขึ้น เช่นกันเดียวกับยิบรอลตาร์ หนึ่งในดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ ซึ่งสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ของกระทรวงแรงงาน ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มชาติกำลังพัฒนาในการตรวจสอบอย่างละเอียดครั้งนี้

กระทรวงแรงงานยังได้ปลดสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ ถ่านหินจากนามิเบีย เพชรจากซิมบับเว และยาสูบจากคาซัคสถาน ออกจากรายการสินค้าที่ใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานที่ถูกบังคับในการผลิต ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ทางกระทรวงดำเนินการเช่นนี้

“เรากำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่เราก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำให้สำเร็จ” โธมัส เปเรซ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ที่เพิ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งกล่าวในการนำเสนอรายงานฉบับนี้ ซึ่งเป็นฉบับที่ 12 ของรายงานที่ออกเป็นประจำทุกปี

ทางด้าน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ระบุว่า ทั่วโลกยังมีเด็กถึง 168 ล้านคนที่ยังต้องทำงานอยู่ โดยที่ 85 ล้านคนในจำนวนดังกล่าวต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่อันตราย

“ชาติต่างๆ ไม่ควรสร้างอนาคตทางเศรษฐกิจของตัวเองบนหลังของเด็กๆ” เปเรซ กระตุ้นเตือนในการงานเปิดตัวรายงานฉบับนี้ ที่สำนักงานใหญ่ของกระทรวงแรงงาน “นั่นเป็นสิ่งที่ผิดอย่างร้ายแรง”

สำหรับ มายา โซโตโร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาวาย ปรากฏตัวในวิดีโอขณะเล่าประสบการณ์ที่เธอเคยเป็นแรงงานอายุต่ำกว่าเกณฑ์ ตอนที่แม่ของเธอพาเธอมาไปฝากไว้กับโรงงานแห่งหนึ่งในอินโดนีเซียเป็นเวลา 1 วัน

“ตอนแรกก็เหมือนจะสนุกนะ เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นผู้ใหญ่ แต่พอเข้าชั่วโมงที่ 3 แล้ว ฉันรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเลยจริงๆ” โซโตโร-เอ็นจี ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมมารดาของประธานาธิบดี บารัค โอบามากล่าว

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ถูกนำออกเผยแพร่ก่อนที่จะมีการประชุมครั้งสำคัญของไอแอลโอที่บราซิล ในระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม โดยในงานดังกล่าวนานาชาติจะใช้ความพยายามอย่างจริงจัง ขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดให้หมดไปภายในปี 2016 ตามเป้าหมายที่วางไว้ในการประชุมระดับโลกที่กรุงเฮก เมื่อปี 2010

รายงานฉบับนี้ตีพิมพ์ภายหลังที่เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการเผยแพร่รายงานของไอแอลโอฉบับหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหายกย่องชมเชยการที่ปัญหาแรงงานเด็กลดลงเหมือนกัน แม้ว่าโลกกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ตลอดจนตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่มีรายได้ปานกลางมีแรงงานเด็กเป็นจำนวนมหาศาลกว่าในประเทศที่ยากจน

ตามคำนิยามของไอแอลโอ “การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่โหดร้ายที่สุด” ได้แก่ การตกเป็นทาส การค้าประเวณี การค้ายาเสพติดในทุกรูปแบบ และงานที่น่าจะก่อผลเสียต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และศีลธรรมของเด็ก

ในงานเปิดตัวรายงานฉบับนี้ เปเรซพูดถึงประเทศไทยด้วยความชื่นชม โดยตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยกำหนดว่าเด็กที่ใช้แรงงานในบ้านต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แม้ว่าในรายงานจะระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายแรงงานเด็กโดยรวมของไทยยังไม่เด็ดขาดจริงจัง

สำหรับรายชื่อของประเทศที่สามารถสร้างความก้าวหน้าในระดับพอประมาณ 62 ประเทศนั้น ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน ในเอเชีย อียิปต์ และเลบานอน ในตะวันออกกลาง เคนยา และแอฟริกาใต้ ในแอฟริกา

อย่างไรก็ดี ยังคงมีสินค้าราว 134 ชนิดจาก 73 ชาติอยู่ในรายชื่อสินค้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานที่ถูกบังคับให้ทำการผลิต ที่อินเดียนำหน้าเป็นอันดับหนึ่งจากการที่มีสินค้าที่ผลิตด้วยแรงงานเช่นนี้ถึง 21 ประเภท เป็นต้นว่า อิฐ พรม สิ่งทอ บุหรี่แต่งรส ดอกไม้ไฟ และลูกฟุตบอล

ขณะที่รัสเซียก็ติดโผอยู่หนึ่งรายการ คือ สื่อลามก

กำลังโหลดความคิดเห็น