เอเอฟพี - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ตอบรับถ้อยคำที่แสดงความเป็นมิตรจากประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ วานนี้ (24) ทว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่อาจก้าวข้ามความหวาดระแวงจนถึงขั้นเตรียมพบปะอย่างเป็นทางการได้
ประธานาธิบดีฮัสซัน รอฮานี แห่งอิหร่าน ขอให้ผู้นำสหรัฐฯ อย่าใส่ใจ “พวกคลั่งสงคราม” เพื่อให้การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านเป็นจริงได้ โดยตัวเขาเองก็พร้อมที่จะพูดคุยกับผู้นำอเมริกาอย่างเน้น “กรอบเวลาและผลสัมฤทธิ์”
อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของสองผู้นำยังคงบ่งชี้ “ช่องว่าง” ที่ชัดเจนระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านที่ได้ชื่อว่าเป็นศัตรูกันมาหลายสิบปี และแม้แต่การ “จับมือทักทาย” ในเชิงสัญลักษณ์ก็ยังไม่เกิดขึ้น
โอบามายอมรับว่า ความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างสองชาตินั้น “หยั่งรากลึก” และปัญหานิวเคลียร์อิหร่านก็เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ยังต้องคำนึงถึงเป็นลำดับต้นๆ ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ อย่างไรก็ดี “ข้อตกลงที่มีนัย” ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน พอจะมีทางเป็นไปได้
“ผมไม่คิดว่าความขัดแย้งที่มีมายาวนานในประวัติศาสตร์จะยุติลงได้ในชั่วข้ามคืน... ความหวาดระแวงต่อกันมันหยั่งรากลึกเกินไป แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่าเราสามารถแก้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่านได้ และนั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป โดยมองที่ผลประโยชน์และการเคารพซึ่งกันและกัน”
“สิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อถ้อยคำแสดงมิตรภาพถูกกำกับด้วยการกระทำที่โปร่งใสและตรวจสอบได้” ผู้นำสหรัฐฯ ระบุ
รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ จะได้พบปะกับโมฮัมหมัด จาวัด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านเป็นครั้งแรก ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยโครงการนิวเคลียร์อิหร่านซึ่งจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดี (26)
รอฮานีประกาศชัดเจนว่า อิหร่าน “ไม่เป็นภัยต่อประชาคมโลก” อย่างแน่นอน พร้อมแสดงความผิดหวังที่นานาชาติคว่ำบาตรเตหะรานด้วยเรื่องโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งเขายืนยันว่ามีวัตถุประสงค์ในทางสันติเท่านั้น
หากโอบามามองข้าม “ผลประโยชน์ระยะสั้นของพวกกระหายสงคราม เราทั้งสองชาติอาจบรรลุกรอบการทำงานเพื่อลดความแตกต่างระหว่างกันได้” รอฮานีเผย
“อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างสูงประเภทอื่นๆ ไม่เคยอยู่ในตำราความมั่นคงหรือการป้องกันประเทศของอิหร่าน ทั้งยังเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการขั้นพื้นฐานของศาสนาและศีลธรรมด้วย”
โครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของอิหร่านเป็นเหตุให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศมติคว่ำบาตรเตหะรานมาแล้วถึง 4 ครั้ง ซึ่งรอฮานีก็เรียกร้องให้ทั่วโลกยอมรับสิทธิของอิหร่านในการดำเนินกิจกรรมนิวเคลียร์
ผู้นำอิหร่านยังประณาม “การสังหารหมู่ชาวยิว” (Holocaust) ซึ่งนับเป็นท่าทีที่เปลี่ยนไปจากอดีตผู้นำอิหร่านคนก่อนๆ โดยเฉพาะอดีตประธานาธิบดีมะห์มูด อะห์มาดิเนจัด ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิสราเอล
“อาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษยชาติ รวมถึงสิ่งที่พวกนาซีกระทำต่อชาวยิว ล้วนเป็นเรื่องน่าตำหนิและสมควรถูกประณาม” รอฮานีให้สัมภาษณ์ต่อซีเอ็นเอ็น
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ซึ่งมีกำหนดปาฐกถาต่อที่ประชุมยูเอ็นในสัปดาห์หน้า วิจารณ์ว่าสิ่งที่รอฮานีเอ่ยบนเวทีสมัชชาใหญ่ยูเอ็นนั้นเต็มไปด้วย “คำประชดประชัน และความหน้าไหว้หลังหลอก”
ก่อนหน้านี้ มีการคาดหมายว่าโอบามา กับรอฮานี น่าจะได้พบกันในงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มูน เป็นเจ้าภาพ ทว่าประธานาธิบดีอิหร่านก็ไม่ได้ปรากฏตัวที่นั่น