เอเอฟพี – นักสิทธิมนุษยชนอินเดียต่างแสดงความผิดหวังที่ศาลสั่งประหารชีวิตชาย 4 คนซึ่งก่อคดีรุมโทรมนักศึกษาหญิงบนรถเมล์เมื่อปลายปีที่แล้ว วันนี้(14) โดยชี้ว่าการประหารคนผิดให้ตายตกตามกันไม่ช่วยยับยั้ง “วิกฤตการข่มขืน” ในแดนภารตะ
หลังสิ้นสุดกระบวนการไต่สวนนาน 7 เดือน ผู้พิพากษา โยเกช คันนา ได้มีคำพิพากษา “แขวนคอจนตาย” ต่อจำเลยทั้งสี่ ซึ่งได้ร่วมกันรุมโทรมและทำร้ายร่างกายนักศึกษาหญิงวัย 23 ปีบนรถเมล์ในกรุงนิวเดลี เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
คำตัดสินของศาลเป็นที่สาสมใจประชาชนจำนวนมาก ซึ่งต่างนำขนมหวานมาแจกจ่ายกันตามท้องถนนเพื่อฉลอง “ความยุติธรรม” ที่บังเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้(14) เครือข่ายสิทธิมนุษยชนอาวาซ (Avaaz) ได้ออกมาวิจารณ์คำสั่งประหารชีวิต พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียจัดโครงการรณรงค์ให้ความรู้ต่อประชาชนเพื่อป้องกัน “การแพร่ระบาดของคดีข่มขืน” จะดีกว่า
“การประหารพวกเขาทั้ง 4 ไม่ช่วยให้นักศึกษาฟื้นขึ้นมาได้ และไม่ทำให้วิกฤตการข่มขืนที่กำลังเกิดขึ้นในอินเดียสูญสลายไป ทางเดียวที่จะหยุดยั้งคดีข่มขืนคือต้องให้ความรู้ต่อประชาชน” เครือข่ายอาวาซ ระบุ
คำพิพากษาประหารชีวิตปรากฏบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์อินเดียทุกฉบับ พร้อมภาพผู้ต้องหาทั้ง 4 รายซึ่งก่อคดีสะเทือนขวัญจนนำมาสู่การเดินขบวนประท้วงในอินเดียนานถึง 3 สัปดาห์
ทั้งนี้ ก่อนศาลจะประกาศคำตัดสินได้มีเสียงเรียกร้องให้ผู้ต้องหาทั้งสี่ คือ วินัย ชาร์มา, อักเชย์ ทากูร์, ปาวัน คุปตะ และมุเกช สิงห์ ถูกแขวนคอให้สาสมกับความผิดที่ได้กระทำต่อนักศึกษากายภาพบำบัดหญิงวัย 23 ปีและเพื่อนชายของเธอ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี สื่อบางฉบับตั้งคำถามว่าบทลงโทษเช่นนี้จะช่วยยุติคดีข่มขืนได้จริงหรือไม่ โดยหนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทม์สชี้ว่า คำตัดสินของศาลเพียงแต่ทำให้สังคมสบายใจว่าคนผิดถูก “กรรมสนอง” แล้วเท่านั้นเอง
“ด้วยคำสั่งแขวนคอผู้ต้องหา ศาลพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดายที่จะเปลี่ยนการลงโทษเพื่อแก้แค้นไปสู่การอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ว่าด้วยการทำงานของตำรวจและการปฏิรูปกฎหมาย... ความตายไม่อาจยับยั้งอาชญากรรมได้” ฮินดูสถานไทม์ส ระบุ
สถิติทางการระบุว่า ปีที่แล้วเกิดคดีข่มขืนในอินเดียรวมทั้งหมด 24,923 คดี แต่ในความเป็นจริงน่าจะสูงกว่านั้น โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สตรีบางคนไม่กล้าที่จะแจ้งตำรวจเพราะไม่ต้องการมีประวัติด่างพร้อยในสายตาชาวบ้าน
ด้านองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ก็วิจารณ์คำตัดสินของศาลอินเดียว่า “เป็นปัญหา”
“ศาลอาจจะถูกสังคมกดดัน และเป็นการง่ายที่จะตัดสินเช่นนั้น แต่รัฐบาลอินเดียควรยกเลิกโทษประหารที่ทารุณเกินเหตุ และเดินหน้าปฏิรูปสถาบันต่างๆในสังคมแทน” มีนากาชิ กันกูลีย์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ ให้ความเห็น