รอยเตอร์ – สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ มิเชลล์ โอบามา รณรงค์ให้ชาวอเมริกันหันมาดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดเพื่อสุขภาพที่ดี หลังจากที่เคยกระตุ้นเด็กและเยาชนให้ออกกำลังกายและทานผักผลไม้มาแล้ว
อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำที่ควรจะดื่มต่อวันยังคงเป็นที่ถกเถียง และนักเคลื่อนไหวเพื่อผู้บริโภคบางคนก็ตั้งคำถามว่า สมควรหรือไม่ที่จะสนับสนุนให้คนดื่มน้ำบรรจุขวด
“ดื่มเข้าไปเถอะค่ะ... น้ำเปล่าคือเครื่องดื่มบำรุงกำลังอันดับแรกที่ดีที่สุด” มิเชลล์ โอบามากล่าวระหว่างไปเยือนเมืองวอเตอร์ทาวน์ รัฐวิสคอนซิน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา(12)
โอบามา เลือกเมืองวอเตอร์ทาวน์เป็นสถานที่เปิดตัวโครงการ “Drink Up” โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเครื่องดื่มอเมริกันและสมาคมน้ำดื่มบรรจุขวดสากล แต่ประเด็นนี้เองที่ทำให้เกิดข้อกังขาในบรรดาผู้ที่ชื่นชอบน้ำประปามากกว่าน้ำดื่มบรรจุขวด
“ตั้งแต่เรามีโครงการ Let’s Move! ดิฉันก็พยายามหาช่องทางที่จะสนับสนุนให้ครอบครัวและเด็กๆ ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดียิ่งขึ้น” ถ้อยแถลงจากสตรีหมายเลขหนึ่งระบุ
“หากเราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้ตัวเราเองและครอบครัวมีสุขภาพที่ดี ดิฉันเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น”
มาโย คลินิก ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและประกอบวิชาชีพแพทย์ที่ไม่แสวงผลกำไรในรัฐมินนิโซตา ชี้ว่า แม้น้ำสะอาดจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่มากน้อยแค่ไหนนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้
เว็บไซต์ มาโย คลินิก ให้ข้อมูลว่า น้ำมีคุณสมบัติในการขับสารพิษออกจากอวัยวะสำคัญ, นำสารอาหารเข้าสู่เซลล์ และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นต่อหู, จมูก และเนื้อเยื่อลำคอ อาการขาดน้ำแม้จะไม่รุนแรงก็อาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้
มาโย คลินิก ชี้ว่า “ควรจะแก้ไขกฎสักเล็กน้อยเป็นการดื่ม “ของเหลว” ขนาด 8 ออนซ์ให้ได้อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน เพราะของเหลวทุกชนิดนับรวมได้หมด” ส่วนปริมาณน้ำสะอาดที่ร่างกายต้องการขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพโดยรวม, การออกกำลังกาย หรือสถานที่ที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ เป็นต้น
ด้าน เอมิลี เวิร์ธ นักเคลื่อนไหวจากกลุ่ม Food & Water Watch ก็เอ่ยชื่นชมโครงการรณรงค์ให้ประชาชนดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล แต่แนะว่า มิเชลล์ โอบามาน่าจะสนับสนุนให้คนดื่มน้ำประปามากกว่าน้ำบรรจุขวดด้วย
“น้ำประปาในสหรัฐฯ มีการควบคุมคุณภาพมากกว่าน้ำดื่มบรรจุขวด มันช่วยให้ผู้บริโภคลดค่าใช้จ่าย และไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนขวดน้ำพลาสติก” เวิร์ธ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ พร้อมชี้ว่า ขวดน้ำดื่มที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลนั้นมีไม่ถึง 25% ส่วนที่เหลือจะถูกฝังกลบ หรือทิ้งเป็นขยะตามแม่น้ำลำคลอง