เอเจนซี/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ผลการศึกษาล่าสุดชี้ฉลามขาวยักษ์มักว่ายน้ำเข้าใกล้เขตชายฝั่งบ่อยครั้งมากกว่าที่เหล่านักวิทยาศาสตร์เคยคาดคิดไว้ นอกจากนั้น ชายฝั่งบางแห่งยังกลายเป็น “บ้าน” ที่นักล่าแห่งท้องทะเลสายพันธุ์นี้ต้องกลับมาเยี่ยมเยือนเป็นประจำทุกปี
ผลการศึกษาของทีมวิจัยจากโครงการ “โอเซิร์ช โกลบอล ชาร์ค แทร็คเกอร์” ซึ่งทำการติดตามพฤติกรรมของฉลามขาวยักษ์กว่า 100 ตัวโดยมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องด้วยสัญญาณดาวเทียมตั้งแต่ปี 2009 พบข้อมูลว่า ฉลามขาวยักษ์สามารถเดินทางท่องไปในท้องทะเลได้เป็นระยะทางไกลถึง 3,000 ไมล์ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยพบว่า ถึงแม้ฉลามขาวยักษ์จะว่ายน้ำระยะทางไกลมากเพียงใด แต่พวกมันก็มักเดินทางกลับมายังจุดใดจุดหนึ่งซ้ำๆกันทุกปี และพวกมันมักเดินทางกลับมาในพื้นที่พิเศษดังกล่าวในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปีอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าฉลามขาวยักษ์มีความสามารถในการจดจำสถานที่และทิศทางใต้ท้องทะเลที่เป็นเลิศกว่าที่เหล่านักวิทยาศาสตร์เคยประเมินไว้ว่าพวกมันอาจร่อนเร่ไปเรื่อยโดยไร้จุดหมายที่แน่นอน
นอกจากนั้น ผลการศึกษาซึ่งยึดข้อมูลที่ได้จากการใช้ดาวเทียมติดตามฉลามขาวยักษ์ยังพบว่า ฉลามขาวยักษ์มักว่ายน้ำมุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่ใกล้เขตชายฝั่งมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่แถบชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ และน่านน้ำโดยรอบแอฟริกาใต้ สวนทางกับความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า ฉลามขาวยักษ์มักอาศัยอยู่แต่ในเขตน้ำลึกและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ชายฝั่ง
ดร.เกรกอรี สโคมัล นักวิจัยอาวุโสของโครงการฯ ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว ฉลามขาวยักษ์มีความสนใจต่อมนุษย์น้อยกว่าที่พวกเรากลัวกันอยู่มาก และดูเหมือนน่านน้ำใกล้ชายฝั่งบางแห่งจะเป็น “บ้าน” ที่ฉลามขาวยักษ์ จะต้องกลับมาเยือนทุกปีด้วยเหตุผลพิเศษบางอย่างซึ่งยังจำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่ทีมวิจัยมั่นใจว่า การว่ายน้ำกลับมายังพื้นที่ใกล้ชายฝั่งในจุดเดิมๆซ้ำกันทุกปีของฉลามขาวยักษ์นั้นไม่เกี่ยวข้องกับการที่พวกมันต้องการล่ามนุษย์เป็นอาหารแต่อย่างใด
ด้านคริส ฟิชเชอร์ หนึ่งในแกนนำในการสำรวจระบุว่า ข้อมูลที่ได้จากการติดตามพฤติกรรมการเดินทางของนักล่าแห่งท้องทะเลสายพันธุ์นี้นานกว่า 4 ปี จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อความพยายามในการอนุรักษ์ฉลามขาวยักษ์ ที่ถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์สัตว์ทะเลที่ถูกคุกคามจากมนุษย์มากที่สุด