xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจ “ยาปลอม” หากินกับชีวิตคน “ยากจน” ระบาดรุนแรงทั่วแอฟริกา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ผู้ค้ายาปลอมกำลังประสบความสำเร็จในธุรกิจอย่างงดงามทั้งในแคเมอรูน ไอเวอรีโคสต์ เคนยา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งกำไรที่ได้มานั้นบางครั้งแลกมาด้วยชีวิตของเพื่อนมนุษย์

“ซื้อยาข้างถนนอันตรายถึงชีวิต การขายยาข้างถนนกำลังพาการแพทย์ (ที่ปลอดภัย) ไปสู่จุดจบ” เป็นข้อความจากป้ายหน้าร้านขายยาแห่งหนึ่งในกรุงยาอุนเด เมืองหลวงของแคเมอรูน ที่ซึ่งการค้ายาอันตรายกำลังระบาดอย่างรุนแรง

ที่ตลาดแห่งนี้เต็มไปด้วยยาป้องกันมาลาเรีย ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ และกระทั่งครีมลดริ้วรอยที่เป็นของปลอม อุตสาหกรรมยาไม่มีส่วนไหนเลยที่ปลอดภัยจากพวกผู้ผลิตหรือพวกค้ายาผิดกฎหมาย ตามข้อมูลในรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีที่มีทั่วทวีปแอฟริกา

“อันนั้นคือไดโคลฟีแน็ก (ยาแก้อักเสบ) ที่มีประสิทธิภาพและขายดีที่สุด” เบลส โจโม ผู้ค้ายาข้างถนนในตลาดใจกลางกรุงยาอุนเดโฆษณาชักชวน “และนี่ก็คือไวอะกร้าที่ชาวคาเมอรูนกำลังเห่ออยู่ตอนนี้”

คนขายยาแบบโจโมอีกราว 100 คนต่างตั้งแผงขายยาใต้ร่มกันแดดอย่างเปิดเผย ในกล่องของพวกเขามีกองยาที่พูนจนล้นออกมา ส่วนยาเป็นแผงต่างถูกนำมาเรียงไว้บนชั้นวาง

ประชาชนสามารถหาซื้อยาที่ขายแยกเม็ดเดียวได้ที่ตลาดแห่งนี้ หรือกระทั่งตามร้านขายของชำบางแห่ง โดยคนขายมักจะนำยาปลอมและยาจริงที่ได้มาอย่างถูกกฎหมายหรือขโมยมาจากห้องเก็บยา ซึ่งหมายถึงตามโรงพยาบาลหรือคลินิกมาผสมปนเข้าด้วยกัน

หากโชคดีที่สุด ยาปลอมเหล่านี้จะไม่มีผลในการรักษาเหมือนกับยาหลอก ทว่าหากโชคร้ายที่สุด ยาเหล่านี้จะมีพิษร้ายแรง แต่ไม่ว่าจะเป็นไปในทางดีหรือทางร้าย การขายยาประเภทนี้ก็สามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้ผู้อยู่เบื้องหลังการค้ายาผิดกฎหมายได้อยู่ดี

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอดีซี) กล่าวเตือนในที่ประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า ยาปลอมเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ถึงหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดที่มาจากตลาดยาในพื้นที่ต่างๆ ของแอฟริกา

“การนำเข้ายาทำได้สองทาง ทางหนึ่งคือพวกลักลอบขนยารายย่อย ส่วนอีกทางหนึ่งคือเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่รับผิดชอบการนำเข้ายาจากบริษัทผู้ผลิตในดินแดนห่างไกลในอย่างจีนและอินเดีย” เป็นคำกล่าวของปาร์เฟต์ คูอัสซี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมแห่งชาติไอเวอรีโคสต์ในช่วงปี 2005 ถึง 2012

คูอัสซี ผู้ที่มุ่งมั่นต่อสู้กับธุรกิจค้ายาปลอมที่อันตรายนั้น สามารถรอดพ้นจากการถูกตามสังหารที่สำนักงานใหญ่ขององค์การเภสัชกรรมได้ถึงสองครั้ง “นั่นเป็นสัญญาณว่ามีเรื่องผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่ใช่พวกผู้ค้ารายเล็กๆ ตามท้องถิ่น” เขากล่าว

ปรากฏการณ์ยาปลอมแพร่ระบาดนี้ขยายวงกว้างออกไป และครองพื้นที่ตั้งแต่ 20 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ในตลาดขายยาที่ไอเวอรีโคสต์ คาอูสซีกล่าวเสริม ส่วนที่เคนยา 30 เปอร์เซ็นต์ของยาทั้งหมดที่ขายในช่วงปี 2012 นั้นหากไม่เป็นยาหลอกก็ต้องเป็นยาปลอม ตามข้อมูลของคณะกรรมการว่าด้วยพิษและเภสัชกรรมแห่งชาติเคนยา ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของแคเมอรูนก็ชี้ให้เห็นตัวเลขที่คล้ายคลึงกัน

ที่ไนจีเรีย ซึ่งเคยโด่งดังในฐานะแหล่งผลิตยาปลอมขนาดใหญ่ พบว่าทั้งยาจริงที่หมดอายุแล้วและยาปลอมนั้น รวมกันเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของยาที่วางขายในปี 2002 องค์การอนามัยโลกเผย

“โดยส่วนใหญ่ยาปลอมและยาปนเปื้อนเหล่านี้มาจากประเทศจีนและอินเดีย โดยคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของยาที่ใช้กันที่ไนจีเรีย เราไม่ค่อยได้นำเข้ายาจากสหรัฐฯ เท่าไรนัก” อาบูบาการ์ จีโมห์ โฆษกของสำนักงานบริหารและควบคุมอาหารและยาแห่งชาติ (แนฟแด็ก) ระบุ

“พวกเขาเลิกเอายานำเข้าผิดกฎหมายใส่ในตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่ๆ กันแล้ว แต่มันจะมาในรูปแผงเล็กๆ นอกจากนั้นพวกเขายังเปลี่ยนฉลากยาตั้งแต่ยังอยู่นอกประเทศเพื่อให้ดูเหมือนของจริงอีกด้วย” จีโมห์เผย

ทางด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพยายามแก้ลำด้วยการจัดตั้งบริการที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่ายาเป็นของจริงหรือไม่ โดยการตรวจรหัสบนฉลากสินค้าผ่านระบบเอสเอ็มเอส
กำลังโหลดความคิดเห็น