xs
xsm
sm
md
lg

แมร์เคิล นายกฯเยอรมันที่ไปค่าย “นาซี” เป็นคนแรก เตือนให้ระวังพวก “ขวาจัด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - วันนี้ (20 ส.ค.) อังเกลา แมร์เคิลจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมันคนแรกที่เยือนค่ายดาเชา ค่ายกักกันของนาซี ขณะที่เธอได้กล่าวเตือนถึงภัยคุกคามจากฝ่ายขวาจัดในช่วงเวลาของการหาเสียงเพื่อการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สามของเธอ

ก่อนการปราศรัยหาเสียงในช่วงเย็นที่เมืองดาเชา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองมิวนิค แมร์เคิลมีกำหนดจะเดินทางถึงอนุสรณ์สถานแห่งนี้ในเวลา 16.45 น. (ตรงกับ 23.45 น.ของเมืองไทย) และหลังจากการกล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ เธอจะวางพวงหรีดและเดินชมพื้นที่ส่วนต่างๆ ของค่าย

แมร์เคิลในวัย 59 ปี จะเยี่ยมชมค่ายนี้โดยมีแม็กซ์ มานน์ไฮเมอร์ ประธานคณะกรรมการอดีตนักโทษค่ายดาเชา และผู้รอดชีวิตคนอื่นๆ เป็นคนนำชมสถานที่ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเผยแพร่การเดินทางเยือนเพียงบางส่วนเท่านั้น

มานน์ไฮเมอร์วัย 93 ปี พยายามโน้มน้าวให้แมร์เคิลเข้าเยี่ยมชมค่ายนี้มานานแล้ว และกล่าวว่า เขามองการตัดสินใจของเธอเป็น “ประวัติศาสตร์” และ “สะท้อนให้เห็นถึงความเคารพที่เธอมีต่ออดีตผู้ถูกกักกัน”

พวกนาซีใช้ดาเชาเป็นค่ายกักกันนักโทษการเมืองในเดือนมีนาคม ปี 1933 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขึ้นมาเป็นผู้นำเยอรมนี

ค่ายนี้นับเป็นค่ายกักกันแห่งแรกในเยอรมนี และกลายเป็นต้นแบบของค่ายทั้งหมดที่สร้างขึ้นตามมา

ชาวยิว คนรักร่วมเพศ ชาวโรมา (ชาวยิปซี) ฝ่ายค้านทางการเมือง คนพิการ และเชลยศึก รวมกว่า 200,000 คนถูกคุมขังที่ค่ายดาเชาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

นักโทษเหล่านี้กว่า 41,000 คนถูกฆ่าตาย ปล่อยให้อดอยาก หรือเสียชีวิตจากโรคร้าย ก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ จะปลดปล่อยผู้ถูกคุมขังในค่ายแห่งนี้ให้เป็นอิสระเมื่อเดือนเมษายน 1945

ทั้งนี้ อนุสรณ์สถานแห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวราว 800,000 คนต่อปี

แม้จะเป็นครั้งแรกที่มีนายกรัฐมนตรีเยอรมันเดินทางมาค่ายดาเชา แต่เมื่อเดือนเมษายน ปี 2010 แมร์เคิลเคยไปค่ายกักกันของนาซีแห่งอื่นๆ มาก่อน เป็นต้นว่า ค่ายบุชเชนวัลด์ ที่เธอเข้าชมพร้อมประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ

และอดีตประธานาธิบดีฮอร์สต์ เคอห์เลอร์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งนี้ซึ่งมีความสำคัญในทางพิธีการทว่าไม่ค่อยมีอำนาจที่แท้จริงอะไร เมื่อ 3 ปีที่แล้วก็เดินทางไปร่วมพิธีรำลึกครบรอบ 65 ปีแห่งการปลดปล่อยนักโทษในค่ายดาเชาให้ได้รับอิสระ

ในรายการรายสัปดาห์ของเธอซึ่งเผยแพร่ผ่านโปรแกรม Podcast ทางอินเทอร์เน็ตเมื่อวานนี้ (19) แมร์เคิลได้ออกมาเตือนก่อนออกเดินทางไปดาเชา ให้ชาวยุโรปคอยสอดส่องต่อต้านพวกไม่ยอมรับว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด

“เราต้องไม่เปิดโอกาสให้มีความคิดเช่นนี้มีที่ยืนในสังคมยุโรป ซึ่งเป็นดินแดนแห่งประชาธิปไตยของเราเด็ดขาด” แมร์เคิลกล่าว โดยเน้นย้ำว่าความโหดเหี้ยมเลวทรามของพวกนาซีเป็นสิ่ง “เหลือเชื่อ” ขนาดไหนในปัจจุบัน

หลังจากการเยี่ยมชมค่ายกักกัน แมร์เคิลจะปราศรัยหาเสียงที่เมืองดาเชา ในเย็นของวันเดียวกัน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในรัฐบาวาเรีย และการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นที่เยอรมนีในเดือนหน้า (ก.ย.)

ไมเคิล วอล์ฟซอห์น นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบุนเดสเวร์ของกองทัพเยอรมัน ซึ่งอยู่ที่มิวนิค กล่าวว่าไม่มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้เลยว่า การเดินทางไปเยือนค่ายดาเชาครั้งนี้เป็นแผนการหาเสียงของแมร์เคิล

“สำหรับผู้เริ่มต้น (ผมคงต้องอธิบายให้เข้าใจว่า) เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนในประเทศนี้สนอกสนใจในนโยบายต่อประวัติศาสตร์ (เยอรมัน) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแนวความคิดของพรรคนาซี” เขากล่าวกับหนังสือพิมพ์รายวันทาเจสสปีเกลเมือวานนี้ (19)

“อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบางสิ่งเปลี่ยนไปแล้ว ทำให้การเดินทางไปเยือนอนุสรณ์สถานเกี่ยวกับนาซีในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งกันอย่างเข้มข้นเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีความเสี่ยง (ทางการเมือง) อีกต่อไป”

“การตัดสินใจของแมร์เคิลครั้งนี้เป็น...สัญญาณที่แสดงว่าความสัมพันธ์ของเยอรมนีกับประวัติศาสตร์นั้นอยู่ในสภาพผ่อนคลายมากขึ้น”

กำลังโหลดความคิดเห็น