เอเอฟพี - ผู้นำพรรคคองเกรสอินเดียมีมติเห็นชอบให้จัดตั้ง “รัฐเตลันกานา” เป็นที่รัฐ 29 โดยแยกออกมาจากรัฐอานธรประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางความวิตกกังวลว่านโยบายเช่นนี้จะก่อความไม่พอใจ และนำไปสู่เหตุรุนแรงในรัฐสำคัญซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางไอทีอย่าง ไฮเดอราบัด
นายกรัฐมนตรี มานโมฮัน ซิงข์, โซเนีย คานธี ประธานพรรคคองเกรส และบรรดาผู้นำพรรคอาวุโส ต่างเห็นชอบวานนี้(30) ให้มีการแบ่งพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอานธรประเทศจัดตั้งเป็นรัฐใหม่ที่ชื่อว่า เตลันกานา (Telangana)
อาเจย์ มาเคน โฆษกพรรคคองเกรส แถลงที่กรุงนิวเดลีว่า พรรคพิจารณาเห็นว่าเสียงเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐเตลันกานาเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1956 “ซึ่งที่ประชุมพรรคก็เห็นชอบ และจะเสนอให้รัฐบาลกลางเริ่มกระบวนการจัดตั้งรัฐเตลันกานาต่อไป”
ทั้งนี้ มติของพรรคคองเกรสยังต้องรอความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน ทว่าพรรคภารติยะชนะตะ (บีเจพี) ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน มีท่าทีสนับสนุนการตั้งรัฐใหม่เต็มที่ และยังเคยตำหนิรัฐบาลว่ามัวเสียเวลาทบทวนอยู่นานเกินเหตุ
รัฐเตลันกานาจะถือกำเนิดขึ้นบนพื้นที่แห้งแล้งและยากจนของรัฐอานธรประเทศ ซึ่งกลุ่มสนับสนุนอ้างว่าไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากฝ่ายบริหารรัฐอานธรประเทศมาหลายยุคหลายสมัย
อย่างไรก็ดี ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตร่ำรวยของรัฐอานธรประเทศต่างคัดค้านการจัดตั้งรัฐใหม่ โดยชี้ว่า รัฐบาลอินเดียกำลังสร้าง “กล่องแพนโดรา” ที่จะกระตุ้นให้ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เรียกร้องขอความเป็นรัฐบ้าง เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่หลากหลายทั้งในด้านเชื้อชาติ, ศาสนา และวัฒนธรรม และมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มรอคอยโอกาสอยู่แล้ว
“สิ่งที่รัฐบาลกำลังเสนอออกไปก็คือ พวกคุณก่อความวุ่นวายมานานหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นก็ควรได้มีรัฐเป็นของตนเองเสียที” เค.จี. สุเรช ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิวิเวกานันท์สากล ซึ่งมีฐานที่กรุงนิวเดลี ระบุ พร้อมเตือนว่า การตั้งรัฐเตลันกานาจะเป็นเสมือนการเปิด “กล่องแพนโดรา” ที่จะนำความวุ่นวายมาสู่อินเดีย
กลุ่มแรกๆที่จะสร้างปัญหาก่อนใครเพื่อนน่าจะเป็นชาวเนปาลีในรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเพื่อขอจัดตั้งรัฐกุรข่าแลนด์ (Gorkhaland) มานานหลายปี
ผู้สันทัดกรณีมองว่า การแบ่งพื้นที่รัฐอานธรประเทศออกเป็นรัฐเตลันกานาซึ่งจะมีศูนย์กลางไอทีอย่างไฮเดอราบัดเป็นเมืองหลวงด้วยนั้น เป็นการเสี่ยงลงทุนครั้งใหญ่ของพรรคคองเกรสที่ต้องการเรียกคะแนนนิยมในรัฐสำคัญ ก่อนถึงศึกเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า
รัฐเตลันกานาเป็นประเด็นพิพาทที่นำมาสู่เหตุปะทะระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจอินเดียหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2009 จนรัฐบาลต้องส่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมืองไฮเดอราบัด ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัทไอทีใหญ่ๆหลายแห่ง รวมถึง กูเกิล และ เฟซบุ๊ก