เอเอฟพี/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ประธานาธิบดีรักษาการของอียิปต์ประกาศในวันเสาร์ (20) แต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่ายเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศที่ถูกยกเลิกไปภายหลังจากที่กองทัพแดนมัมมี่ทำรัฐประหารโค่นอำนาจประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี ผู้นำสายอิสลามิสต์
อัดลี มันซูร์ ผู้นำขัดตาทัพของอียิปต์ประกาศแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิรวม 10 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวน 6 คนและศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยอีก 4 คน เพื่อเริ่มภารกิจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะเริ่มงานทันทีในวันอาทิตย์ (21) และมีเวลาในการทำงาน 30 วัน ก่อนที่จะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการแก้ไขแล้วไปนำเสนอต่อสภาพิเศษที่ตั้งขึ้นโดยมีสมาชิก 50 รายที่ถูกคัดเลือกมาจากตัวแทนกลุ่มต่างๆในสังคมอียิปต์ รวมถึง พรรคการเมือง สหภาพแรงงาน องค์การทางศาสนา และผู้แทนจากกองทัพ ซึ่งจะใช้เวลาอีกราว 2 เดือน ในการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ และนำเสนอต่อประธานาธิบดีรักษาการต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนดังกล่าวเสร็จสิ้น ประธานาธิบดีมันซูร์ วัย 67 ปี ซึ่งเป็นอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญแดนไอยคุปต์ก็จะต้องเร่งจัดการลงประชามติภายในระยะเวลา 30 วันเพื่อให้ชาวอียิปต์เป็นผู้ตัดสินว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศหรือไม่ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดีคนใหม่ในช่วงต้นปีหน้า
อย่างไรก็ดี กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งเป็นฐานทางการเมืองของมอร์ซี ประกาศไม่ยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลรักษาการในครั้งนี้ โดยประณามว่า กฏหมายสูงสุดของประเทศกำลังจะถูกจัดทำขึ้นโดยพวกที่โค่นล้มรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลของโมฮาเหม็ด มอร์ซี ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ผ่านกระบวนการลงประชามติในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวที่ถูกจัดทำขึ้นตามแนวทางอิสลามิสต์นั้น ผ่านการลงประชามติไปด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 64 แต่ทว่าจำนวนผู้ที่ออกมาลงประชามติในครั้งนั้นกลับมีเพียงแค่ร้อยละ 33 เท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญอียิปต์ในยุคมอร์ซีครองอำนาจนั้นถูกวิจารณ์ว่า เต็มไปด้วยข้อกำหนดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยเฉพาะต่อผู้ที่มิใช่ชาวมุสลิม