รอยเตอร์ - แพนด้ายักษ์ที่สวนสัตว์แอตแลนตาสร้างความปลื้มปิติเป็น 2 เท่า ด้วยการให้กำเนิดลูกแฝดแล้วเมื่อวานนี้ (16) ทำให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ที่คาดไว้ว่าจะได้ลูกแพนด้าตัวใหม่เพียงตัวเดียว ต่างรู้สึกประหลาดใจมาก
เจ้าหลุนหลุนให้กำเนิดหมีน้อยตัวแดงๆ สองตัวนี้ เมื่อเวลา 18.21 และ 18.23 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นลูกแพนด้ายักษ์สองตัวแรกที่เกิดที่สหรัฐฯ ในปี 2013 เจ้าหน้าที่ของซูแอตแลนตาระบุ
“เราไม่คิดว่าจะได้ลูกแพนด้าแฝดแม้แต่น้อย แม้เราจะไม่ได้บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้” ดไวต์ ลอว์สัน รองผู้อำนวยการซูแอตแลนตากล่าว และเธอยังเสริมว่าโดยปกติแพนด้ามักคลอดลูกแฝดอยู่แล้ว “เรามองเห็นตัวอ่อนของลูกหมีแค่ตัวเดียว ในภาพอัลตราซาวด์เพียงไม่กี่ใบที่แม่หมียอมให้ความร่วมมือ”
ที่สวนสัตว์ซูแอตแลนต้าไม่เคยมีลูกแพนด้าแฝดแรกเกิดมาก่อน เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ชี้แจง ก่อนหน้านี้หลุนหลุนเคยให้กำเนิดลูกหมีมาแล้ว 3 ตัว
แพนด้ายักษ์เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยมีถิ่นกำเนิดในบริเวณเทือกเขา ทางตอนกลางของจีน ทั้งนี้มีประชากรแพนด้ายักษ์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติราว 1,600 ตัว ขณะที่มี 300 ตัวที่ถูกนำมาเลี้ยงในกรง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจีน เจ้าหน้าที่สวนสัตว์กล่าว
ลอว์สันระบุว่า ยังไม่สามารถระบุเพศของลูกแพนด้าได้ในขณะนี้ ลูกหมีแพนด้ามีขนาดและน้ำหนักตัวโดยประมาณเท่ากับเนยแข็งเพียงก้อนหนึ่ง มีผิวสีชมพู ไม่มีขน และยังมองไม่เห็น
เจ้าหลุนหลุนหนักมากกว่า 200 ปอนด์ (91 กิโลกรัม) เจ้าหน้าที่ผู้นี้ชี้แจง ลูกแพนด้าจะมีขนาดตัวเป็น 1/ 900 ของแม่ ข้อมูลของสวนสัตวศาสตร์แห่งชาติสมิธโซเนียนระบุ
แม้ว่าโดยธรรมชาติแล้ว หมีแพนด้ามักจะให้กำเนิดลูกแฝด แต่พวกมันสามารถเลี้ยงลูกได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีลูกอีกตัวหนึ่งที่ถูกปล่อยให้ตาย แต่ที่สวนสัตว์ เจ้าหน้าที่สามารถเป็นผู้ประคบประหงมลูกหมีอีกตัวหนึ่งได้ ขณะที่แม่ของมันกำลังดูแลลูกแพนด้าแค่ตัวเดียว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะสับเปลี่ยนตัวลูกหมี เพื่อให้แม่หมีได้มีโอกาสได้ดูแลลูกๆ ทั้งสองตัวได้เป็นผลสำเร็จ ลอว์สันชี้แจง
“การดูแลลูกมากกว่าหนึ่งตัวในคราวเดียวกันเป็นสิ่งที่ยากสำหรับแม่แพนด้า” ลอว์สันกล่าว