รอยเตอร์ – ศาลสูงสุดรัฐไอโอวามีคำพิพากษาวานนี้(12)ว่า กรณีที่ทันตแพทย์ชาวอเมริกันไล่ผู้ช่วยสาวของตนออกจากงาน เพราะเธอ “มีเสน่ห์เย้ายวนเกินไป” ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิง และไม่ถือว่าผิดกฎหมายด้วย
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ผู้พิพากษาศาลไอโอวาซึ่งเป็นชายทั้งหมด มีคำตัดสินว่า ดร. เจมส์ ไนต์ ไม่มีความผิดที่ได้ไล่ เมลิสซา เนลสัน ซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์มานานกว่า 10 ปีออกจากงาน เนื่องจากเธอคนนี้มีเสน่ห์เย้ายวนเกินไปจนภรรยาของเขารู้สึกหึงหวง
เนลสัน โต้แย้งว่า หากเธอเป็นชายคงไม่ถูกไล่ออกเช่นนี้ ส่วน เพจ ฟีดเลอร์ ทนายความของเธอก็ชี้ว่า คำตัดสินของศาลเท่ากับปฏิเสธความเท่าเทียมในการทำงานของหญิงและชาย
คณะผู้พิพากษาตัดสินใจรื้อคดีดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ในที่สุดคำพิพากษาจากศาลสูงก็ยังออกมาในรูปเดิม โดยผู้พิพากษา เอ็ดเวิร์ด แมนสฟิลด์ ระบุว่า “คณะผู้พิพากษามีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนต่างเพศ ซึ่งจะละเมิดกฎหมายสิทธิพลเมืองของรัฐไอโอวา”
“ความจริงที่เกิดขึ้นก็คือ คุณเนลสันไม่ได้ถูกไล่ออกเพราะเธอเป็นหญิง แต่เพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเธอกับนายจ้าง” หัวหน้าผู้พิพากษา มาร์ก แคดี ระบุ
ดร. ไนต์ จ้าง เนลสัน มาทำงานเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ตั้งแต่ปี 1999 และในช่วง 18 เดือนก่อนที่เขาจะไล่เธอออก เขาเคยติติงไปแล้วหลายครั้งว่าเสื้อผ้าที่เธอสวมนั้นรัดรูป และเปิดเผยส่วนโค้งเว้าของร่างกายมากเกินไปจนทำให้ผู้อื่นเสียสมาธิ แต่หญิงสาวก็ยืนยันว่า เธอไม่ได้แต่งกายไม่เหมาะสมแต่อย่างใด
เนลสัน และไนต์ เริ่มส่งข้อความคุยกันตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องงาน แต่มีบางข้อความที่ ไนต์ เริ่มซักไซ้ถึงเรื่องส่วนตัวของหญิงสาว เช่น เธอเคยถึงจุดสุดยอดบ่อยแค่ไหน ทว่า เนลสัน ก็ไม่ได้ตอบคำถามนั้น
ช่วงปลายปี 2009 ฌีน ไนต์ ซึ่งเป็นภรรยาของนายแพทย์ จับได้ว่าสามีของเธอส่งข้อความติดต่อกับ เนลสัน ขณะที่พาเธอและลูกๆไปเที่ยวพักผ่อนต่างรัฐ เธอจึงยื่นคำขาดให้สามีไล่ผู้ช่วยสาวคนนี้ออก โทษฐาน “เป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อชีวิตแต่งงาน”
ท็อดด์ เพ็ตตีส์ ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยไอโอวา ให้ความเห็นว่า เขาเองก็ไม่ทราบว่าเหตุใดศาลจึงรื้อคดีขึ้นมาใหม่ ทั้งที่มุมมองของผู้พิพากษาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเลย นับตั้งแต่เดือนธันวาคมมาจนบัดนี้
“ผมคิดว่า คณะผู้พิพากษาเพียงแต่อยากใช้โอกาสอธิบายว่าเหตุใดพวกเขาจึงมีคำตัดสินเช่นนั้น หลังพบว่ามีกระแสวิจารณ์ตามมามากเหลือเกิน”