xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยสหรัฐฯเตือน “พายุหมุนเขตร้อน” จะเกิดบ่อยขึ้น 40% ในศตวรรษหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯเตือน ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอาจทำให้พายุหมุนเขตร้อนเกิดบ่อยขึ้น 10-40% จากอัตราปัจจุบัน ในช่วงศตวรรษหน้า
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ขณะที่โลกของเราต้องเผชิญกับพายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) ราวๆ 90 ลูกต่อปี ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯเตือนว่า ภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้อัตราการเกิดพายุเพิ่มสูงขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้า

เคร์รี เอมานูเอล นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ระบุว่า การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจส่งผลให้พายุหมุนเขตร้อนเกิดบ่อยขึ้น ระหว่าง 10-40% ในช่วงปี 2100

“พายุที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงกว่าเดิมถึง 45 % ทำให้ฝนตกหนักขึ้น 55% ซึ่งนับว่าไม่เบาเลย” งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของสหรัฐฯ Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุ

เอมานูเอล เตือนว่า ประเทศทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย, มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ และมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ จะเผชิญคลื่นพายุซัดฝั่ง, กระแสลม และฝนตกหนักมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะก่อความเสียหายรุนแรงต่อพื้นที่ชายฝั่ง

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า อัตราการเกิดของพายุหมุนเขตร้อนซึ่งเป็นมวลเมฆและพายุฝนฟ้าคะนองนั้น ยังค่อนข้างเสถียรตลอด 40 ปีที่ผ่านมา แต่นักวิจัยกลุ่มนี้ทำนายว่า พายุมีแนวโน้มจะเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต โดยสรุปจากการศึกษาวิเคราะห์สภาพอากาศ 6 แบบที่แตกต่างกัน ประกอบกับคำพยากรณ์ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งทำนายว่า ทั่วโลกจะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในปี 2100

พายุหมุนเขตร้อนก่อให้เกิดฝนตกหนักและลมกรรโชกแรง และมีระดับความรุนแรงมากน้อยต่างกัน เริ่มตั้งแต่พายุดีเปรสชัน, พายุโซนร้อน ไปจนถึงพายุเฮอริเคนหรือไต้ฝุ่นซึ่งมีความรุนแรงที่สุด

ข้อมูลจากองค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) ระบุว่า มหาสมุทรแอตแลนติก, ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก จะเกิดพายุเฮอริเคนราว 6ลูก และพายุโซนร้อนราว 11 ลูกต่อปี ขณะที่มหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดไต้ฝุ่นราว 10 ลูก และพายุโซนร้อนอีกประมาณ 19 ลูกต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น