เอเจนซีส์ - ฝ่ายทหารอียิปต์ประชุมกับผู้นำฝ่ายค้านและผู้นำสูงสุดทางศาสนาในวันพุธ (3ก.ค.) เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนครบกำหนดเส้นตายของกองทัพที่ให้ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี หาทางออกสำหรับวิกฤตทางการเมืองที่ประเทศชาติกำลังเผชิญอยู่ ด้วยการยอมแบ่งปันอำนาจกับฝ่ายค้าน หรือไม่ก็จะถูกบังคับให้ต้องเดินไปตามแผนโรดแมปซึ่งกองทัพจัดร่างขึ้น โดยที่ปฏิกิริยาจากมอร์ซียังคงเป็นการยืนกรานไม่ลาออก และพร้อมยอมตายเพื่อปกป้องความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญของตน
พวกผู้นำฝ่ายทหารซึ่งประกาศจะฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยขึ้นมาในประเทศที่กำลังปั่นป่วนวุ่นวายสืบเนื่องจากนโยบายแบบอิสลามเคร่งจารีตของมอร์ซี ได้ออกคำแถลงที่เสมือนการลั่นกลองศึกเพื่อทำสงคราม โดยใช้ชื่อคำแถลงว่า “ชั่วโมงท้ายๆ” พวกเขาระบุว่าพร้อมแล้วที่จะสละเลือดเนื้อเพื่อต่อต้าน “พวกผู้ก่อการร้ายและคนโง่เขลาเบาปัญญา” หลังจาก มอซีร์ ปฏิเสธไม่ยินยอมที่จะอำลาตำแหน่งที่เขาได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ฝ่ายทหารได้ยื่นคำขาด 48 ชั่วโมงซึ่งครบกำหนดในเวลา 16.30 น.วันพุธ (ตรงกับ 21.30 น.เวลาเมืองไทย) ให้มอร์ซีหาทางออกสำหรับวิกฤตทางการเมืองในเวลานี้ ด้วยการยอมแบ่งปันอำนาจกับฝ่ายค้าน หรือไม่กองทัพก็จะบังคับให้ใช้แผนโรดแมปที่พวกเขาจัดร่างขึ้นในการนำพาประเทศต่อไป แต่ในขณะที่เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง โฆษกของประธานาธิบดีก็ยังคงแถลงว่า หากเขาต้องตายเพื่อพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย ก็จะเป็นการดีกว่าที่จะถูกประวัติศาสตร์ประณาม
ก่อนหน้านั้น ในการกล่าวแถลงซึ่งมีการถ่ายทอดออกทีวีตอนช่วงเช้ามืดวันพุธ มอร์ซีก็ประกาศเช่นกันว่า ตนได้รับเลือกตั้งจากประชาชนอย่างเสรี และเพิ่งบริหารประเทศได้เพียงปีเดียว จึงต้องการปฏิบัติหน้าที่ต่อ พร้อมประกาศยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญนี้
พวกฝ่ายค้านหัวเสรีนิยมบอกว่า ท่าทีเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า มอร์ซี “สติเลอะเลือนแล้ว”
แม้กระทั่ง ตอเร็ก อัล-ซูมาร์ สมาชิกอาวุโสของกลุ่มอัล-กามา อัล-อิสลามิยะ ขบวนการอิสลามหัวรุนแรงซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่กลุ่มของมอร์ซี ก็ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันพุธว่า การขีดเส้นตายของกองทัพเป็นเค้าลางในการทำรัฐประหาร กระนั้น มอร์ซีสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าวได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการนองเลือดและปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ด้วยการยอมประกาศให้มีการทำประชามติเพื่อจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนกำหนด
ซูมาร์ยังเตือนว่า มีหลายฝ่ายกำลังเล่นกับสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศ และต้องการใช้วิกฤตนี้ก่อสงครามกลางเมือง
ทว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนกำหนดไม่ใช่สิ่งที่มอร์ซีวางแผนไว้ ข้อเสนอล่าสุดของเขาครอบคลุมเพียงจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงหลายรายเผยว่า ยานหุ้มเกราะของทหาร 2 คันได้เข้าประจำที่มั่นที่บริเวณด้านนอกของศูนย์กลางการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำไนล์แล้ว และมีการอพยพโยกย้ายเจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมดออกจากอาคารดังกล่าวแล้วด้วย
ขณะที่สำนักข่าวเอ็มอีเอ็นเอ ของทางการอียิปต์ รายงานว่า พวกข้าราชการพลเรือนกำลังเข้ายึดสำนักงานคณะรัฐมนตรี และจะไม่ยอมให้นายกรัฐมนตรีฮิชัม คันดิล เข้าไปในอาคารดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เกฮัด เอล-ฮัดดัด โฆษกอย่างเป็นทางการของขบวนการภราดรภาพมุสลิม ของมอร์ซี บอกกับรอยเตอร์ว่า พวกผู้สนับสนุนประธานาธิบดีพร้อมที่จะกลายเป็นผู้สละชีพเพื่อปกป้องมอร์ซี
เขากล่าวขณะอยู่ตรงจุดชุมนุมของฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีในย่านชานกรุงไคโร ซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายและหน่วยงานทหารจำนวนมาก รวมทั้งใกล้ๆ ทำเนียบประธานาธิบดีด้วยว่า พวกผู้สนับสนุนจะไม่ยอมให้เจตนารมณ์ของประชาชนชาวอียิปต์ถูกกลไกทหารมาปล้นชิงเอาไปอีก
สถานีโทรทัศน์ อียิปต์25 ซึ่งเป็นของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ยังคงออกอากาศสดบรรยากาศการชุมนุมของฝ่ายสนับสนุนมอร์ซี
ถึงแม้หนังสือพิมพ์อัล-อาห์รัม ของทางการรายงานคาดหมายว่า ถ้าหากมอร์ซีไม่ก้าวลงจากตำแหน่ง ก็จะถูกกองทัพขับออกไป จากนั้นก็จะมีการแต่งตั้งคณะผู้ใช้อำนาจประธานาธิบดีที่มีสมาชิกจำนวน 3 คน ซึ่งจะมีประธานศาลรัฐธรรมนูญสูงสุดนั่งเป็นประธาน
แหล่งข่าวทางทหารรายหนึ่งแจ้งกับรอยเตอร์ว่า เขาคาดหมายว่าแรกทีเดียวกองทัพจะเรียกประชุมบุคคลสำคัญทั้งทางการเมือง, สังคม, และเศรษฐกิจ รวมทั้งพวกเยาวชนนักเคลื่อนไหว เพื่อหารือเรื่องการร่างแผนโรดแมปสำหรับอนาคตของประเทศชาติ
ขณะที่รอยเตอร์และเอเอฟพีต่างอ้างแหล่งข่าวหลายกระแสแต่มีเนื้อหาตรงกันว่า ไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงกำหนดเส้นตาย พล.อ.อับเดล ฟัตตอห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ ได้พบปะหารือผู้นำของฝ่ายต่างๆ โดยมีทั้ง โมฮาเหม็ด เอลบาราเด ผู้นำฝ่ายค้านที่มีแนวทางเสรีนิยม ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ), พระสังฆราช ทาวาโดรสที่ 2 ประมุขของคริสต์ศาสนานิกายคอปติก, ชีค อาเหม็ด อัล-ตอเยบ หัวหน้าอิหม่านแห่งมัสยิดอัล-อัซฮาร์ ซึ่งถือเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของชาวมุสลิมนิกายสุหนี่
เอเอฟพีบอกว่า ผู้ที่เข้าร่วมยังมีพวกตัวแทนจากพรรคการเมืองแนวทางอิสลามิสต์ อย่าง พรรคอัล-นูร์ ที่เป็นพวกซาลาฟิสต์ และกระทั่งพรรคเสรีภาพและความยุติธรรม ซึ่งเป็นปีกทางการเมืองของขบวนการภราดรภาพมุสลิม
นอกจากนั้นยังมีสมาชิกของกลุ่มทามาร็อด ซึ่งเป็นขบวนการรากหญ้าที่อยู่เบื้องหลังการระดมประชาชนนับล้านๆ คนออกมาชุมนุมตามท้องถนนในเมืองต่างๆ ทั่วอียิปต์เมื่อวันอาทิตย์ (30มิ.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้มอร์ซีออกจากตำแหน่ง
แหล่งข่าวของเอเอฟพีบอกว่า การหารือกันคราวนี้มุ่งเน้นไปที่แผนโรดแมปเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ
สำหรับบรรยากาศในกรุงไคโรตอนกลางวันวันพุธนั้น ตามท้องถนนเงียบเชียบผิดปกติ ผู้คนมากมายเลือกอยู่บ้านเพราะเกรงว่า จะเกิดเหตุการณ์รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ขบวนการอิสลามิสต์ประกาศทำสงครามกับฝ่ายต่อต้านมอร์ซี
อนึ่ง ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการแถลงถ่ายทอดทางทีวีของมอร์ซี กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า มีมือปืนไม่ทราบสังกัดกราดยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนประธานาธิบดีในกรุงไคโรในวันอังคาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 16 คน และบาดเจ็บอีกราว 200 คน นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตอีก 7 รายและบาดเจ็บนับสิบจากการปะทะระหว่างกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านประธานาธิบดีในไคโร