xs
xsm
sm
md
lg

ฮุนเซนใช้เรื่อง'เขมรแดงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์'สยบฝ่ายค้านก่อนการเลือกตั้ง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: โจ ฟรีแมน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Genocide as pre-poll politics in Cambodia
By Joe Freeman
18/06/2013

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ออกโรงกล่าวเตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าหาก “พรรคกู้ชาติกัมพูชา” ที่เป็นฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติที่กำลังจะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้แล้ว ก็จะทำให้เกิด “ความปั่นป่วนวุ่นวาย” ขึ้นมา รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่พรรคนี้เสนอก็บ่งชี้ให้เห็นว่าต้องการหวนกลับไปสู่ยุคสมัยเขมรแดง พร้อมกันนั้น รัฐบาลของเขายังได้เร่งรัดออกกฎหมายซึ่งจะเปิดทางให้กล่าวโทษฟ้องร้องใครก็ตามที่กล้าท้าทายแสดงความข้องใจว่าอาชญากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เขมรแดงปกครองประเทศนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ โดยเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากฎหมายใหม่นี้ช่างเหมาะเจาะสอดคล้องกับข้อความต่อต้านพรรคกู้ชาติกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลฮุนเซนพยายามโหมประโคมอย่างพอดิบพอดีทีเดียว

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**การถกเถียงอันทุกข์ทรมาน**

เบื้องหลังการต่อสู้กันอย่างดุเดือดในเรื่องสมาชิกฝ่ายค้านที่ย้ายไปอยู่พรรคใหม่ถือว่าขาดจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติหรือไม่นี้ ก็คือ ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับคุก เอส-21 ซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับคำว่า “จัดฉาก” ในความเห็นที่ แกม สุขา ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้พูดออกมาและถูกบันทึกเสียงเอาไว้

ทั้งนี้ภายหลังจากกองทัพเวียดนามทำการสู้รบกับพวกเขมรแดงอยู่หลายสัปดาห์ ในที่สุดพวกเขาก็สามารถบุกเข้ายึดครองกรุงพนมเปญได้สำเร็จเมื่อวันที่ 7 มกราคม 1979 และค้นพบคุก เอส-21 หรือ ตูลสเลง ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นศูนย์จองจำทรมาน

นายทหารยศพันเอกชาวเวียดนามผู้หนึ่ง เป็นผู้ที่ช่วยเหลือรักษาสถานที่แห่งนี้เอาไว้ รวมทั้งบริเวณหลุมฝังศพหมู่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากกว่าในนามของ “ทุ่งสังหาร” (Killing Fields) มีบางคนเสนอแนะว่า ทั้งคุกแห่งนี้และพวกหลุมฝังศพหมู่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเหตุผลอันชอบธรรมสำหรับการที่เวียดนามทำการยึดครองกัมพูชาเอาไว้อย่างยาวนาน นั่นคือตั้งแต่ปี 1979 จนกระทั่งถึงปี 1989

อย่างไรก็ดี เดวิด แชนด์เลอร์ (David Chandler) นักประวัติศาสตร์กัมพูชาซึ่งมีชื่อเสียงกึกก้อง เขียนเอาไว้ในบทความที่ได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางว่า “ในทั้งสองกรณี (คุกตูลสเลง และหลุมฝังศพหมู่) ต่างมิใช่เป็นสถาบันที่ฝ่ายเวียดนามประดิษฐ์เสกสรรขึ้นมาแต่อย่างใดเลย ตรงกันข้ามเอกสารต่างๆ จากแฟ้มเก็บบันทึกของคุก เอส-21, ภาพถ่ายต่างๆ ของพวกนักโทษ, และการสัมภาษณ์พวกที่รอดชีวิตตลอดจนอดีตคนงานของคุกแห่งนี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้ผมเชื่อจริงๆ ว่า เอส-21 คือสถาบันของคนกัมพูชา ซึ่งจัดสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้วัตถุประสงค์ของผู้กระทำความสยอดสยอง และเหล่าผู้นำของระบอบปกครองกัมพูชาที่กระทำความสยดสยองและชวนให้รู้สึกสยดสยอง”

ผู้บัญชาการของคุกแห่งนี้ ซึ่งก็คือ คัง เก็ก เอียว (Kaing Geak Eav) ผู้ใช้ชื่อจัดตั้งว่า ดุช (Duch) ได้ถูกศาลพิเศษพิจารณาคดีเขมรแดงตัดสินจำคุกตลอดชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว กระนั้นก็ตามที แชนด์เลอร์เขียนเอาไว้ว่า “ในหลายๆ โอกาสทีเดียว ชาวกัมพูชาหลายๆ คนเสนอความเห็นกับผมว่า คุก เอส-21 เป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์เสกสรรขึ้นมาโดยฝีมือของเวียดนามล้วนๆ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของประชาชนชาวกัมพูชาต้องมัวหมองดำมืด และเพื่อจะได้กล่าวโทษประชาชนชาวกัมพูชาโดยรวมว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้ชาวกัมพูชาที่พูดกับผมเช่นนี้ไม่มีคนไหนเลยที่จะอยู่ข่ายซึ่งถือได้ว่าเป็น 'เขมรแดง'”

ทฤษฎีสมคบคิดในลักษณะเช่นนี้, รวมทั้งความตึงเครียดขัดแย้งในประวัติศาสตร์อันยาวนานระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม, ตลอดจนคำพูดต่อต้านคนเวียดนามซึ่งพวกสมาชิกฝ่ายค้านมักชอบพูดกันบ่อยๆ เพื่อใช้เล่นงานโจมตีสายสัมพันธ์ในอดีตที่ฮุนเซนมีอยู่กับชาวเวียดนามผู้ยึดครองประเทศกัมพูชาทั้งหมดนี้โดยรวมๆ ก็ดูเป็นเหตุผลอันมีน้ำหนักทีเดียวที่จะรองรับทำให้เชื่อได้ว่า แกม สุขา ได้พูดอย่างที่เขาถูกกล่าวหาจริงๆ เพราะลงท้ายแล้วมันก็ไม่ได้เป็นคำพูดที่ผิดแปลกจากคำพูดของคนธรรมดาทั่วๆ ไปเท่าไรนักหรอก อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยเหล่านี้ต้องถูกยกออกไปก่อน เมื่อฮุนเซนเสนอให้ออกกฎหมายฉบับใหม่ระหว่างกล่าวปราศรัยต่อประชาชน ในเวลาไม่ถึงสัปดาห์หลังจากมีการเผยแพร่คลิปบันทึกเสียงที่อ้างกันว่าเป็นของผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญผู้นี้

ตามบทบัญญัติในกฎหมายฉบับนี้ ใครก็ตามที่ท้าทายตั้งข้อสงสัยว่ามีการกระทำอาชญากรรมอย่างทารุณโหดร้ายในยุคเขมรแดงจริงหรือไม่ หรือแสดงการยกย่องสรรเสริญอาชญากรรมดังกล่าว จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งก็ละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเยอรมนี โดยที่เราควรจะต้องตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ถึงแม้ประเทศนั้นมีการห้ามเผยแพร่อุดมการณ์นาซีและเครื่องหมายสัญลักษณ์ของนาซีอย่างกว้างขวางครอบคลุม แต่ในที่สุดแล้วก็ยังไม่สามารถป้องกันไม่ให้กลุ่มนาซีใหม่ ตลอดจนการประกอบกิจกรรมของกลุ่มเหล่านี้ ผุดโผล่ขึ้นมาอีกครั้ง

ในงานแปลกฎหมายฉบับนี้เป็นภาษาอังกฤษในร่างแรกๆ นั้น มีการใช้คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocide) ซึ่งเป็นหัวข้อที่กว้างขวางกว่าข้อกล่าวหาอันเฉพาะเจาะจงต่อสิ่งที่ปรากฏอยู่ในคลิปบันทึกเสียงของ แกม สุขา ถ้าหากเขาได้กล่าวคำพูดเช่นนั้นออกมาจริงๆ ในทางเป็นจริงแล้ว พวกนักวิจัยถึงกับโต้เถียงกันมาแรมปีแล้วว่า คำว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ควรจะให้คำนิยามอันเข้มงวดชัดเจนว่าอย่างไรกันแน่ สำหรับคำจำกัดความซึ่งดีที่สุดเพื่อใช้บรรยายถึงสิ่งที่กิดขึ้นในกัมพูชา ก็คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หมายถึงความพยายามที่จะกำจัดกวาดล้างชาติอีกชาติหนึ่ง เชื้อชาติอีกเชื้อชาติหนึ่ง ศาสนาอีกศาสนาหนึ่ง หรือกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่ง

จำเลยที่ยังเหลืออยู่อีก 2 คนในคดีที่ศาลอาชญากรรมสงครามพิเศษกำลังไต่สวนพิจารณาอยู่ในเวลานี้ ได้ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยเช่นกัน แต่ก็มุ่งหมายถึงเพียงแค่อาชญากรรมที่ถูกระบุว่ากระทำกับชาวเวียดนามและชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวจาม เท่านั้น ส่วนของการไต่สวนพิจารณาคดีที่ใหญ่โตกว้างขวางกว่านี้และเร่งด่วนเฉพาะหน้ายิ่งกว่านี้ คือส่วนที่จะโฟกัสตรงยุคสมัยประมาณปี 1975 อันเป็นเวลาที่เขมรแดงบังคับกวาดต้อนชาวกัมพูชาให้ออกจากเมืองหลวงไปอยู่ในเขตชนบท มันเป็นช่วงเวลาที่มีผู้คนหลายร้อยได้ให้การในศาล และคนอื่นๆ อีกจำนวนมากได้บันทึกเป็นหลักฐานเอาไว้ในรูปของหนังสือเล่มและบทความต่างๆ

แต่ความโดดเด่นเป็นพิเศษต่างๆ เหล่านี้ ไม่ปรากฏให้เห็นความแตกต่างเอาเลย เมื่อฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการของกฎหมายฉบับนี้ ถูกนำออกมาเผยแพร่โดยใช้ชื่อว่า “กฎหมายว่าด้วยการปฏิเสธอาชญากรรมซึ่งกระทำในระหว่างยุคสมัยของกัมพูชาประชาธิปไตย” (he Law on the Denial of Crimes Committed during the Period of Democratic Kampuchea) หลังจากที่ก่อนหน้านั้นได้เคยแปลกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “กฎหมายว่าด้วยการปฏิเสธอาชญากรรมของเขมรแดง” (The Law on the Denial of the Khmer Rouge Crimes) ทั้งนี้ กัมพูชาประชาธิปไตย เป็นชื่อเรียกรัฐบาลเขมรแดง กฎหมายฉบับนี้กำหนดโทษผู้กระทำผิดเอาไว้ที่จำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนสำหรับนิติบุคคล ซึ่งรวมถึงพรรคการเมืองด้วยนั้น หากถูกตัดสินว่าละเมิดกฎหมายฉบับนี้ อาจถูกปรับสูงถึง 150,000 ดอลลาร์ และนิติบุคคลดังกล่าวอาจถูกสั่งยุบเลิก

คำแปลอย่างไม่เป็นทางการของเนื้อหาในกฎหมายระบุว่า กฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่จะ “ลงโทษบุคคลซึ่ง ปฏิเสธไม่ยอมรับรู้, ลดทอน, ไม่ยอมรับ, หรือท้าทาย การดำรงอยู่ของอาชญกรรม หรือยกย่องสรรเสริญอาชญากรรมที่ได้มีการกระทำ” ในระหว่างยุคเขมรแดง ซึ่งปกติแล้วมักนิยามกันว่าอยุ่ในช่วงระหว่างวันที่ 17 เมษายน 1975 จนถึงวันที่ 7 มกราคม 1979

กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายๆ กลุ่มได้ออกมาส่งเสียงเตือนแล้วว่า กฎหมายฉบับนี้อาจจะส่งผลในทางลดทอนเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็น ถึงแม้ถ้าหากพูดกันอย่างยุติธรรมแล้ว คำเตือนเช่นนี้ก็ควรนำมาใช้กับเยอรมนี, อิสราเอล, และ รวันดา ซึ่งต่างก็มีกฎหมายทำนองเดียวกันนี้บังคับใช้อยู่แล้ว

คริสโตเฟอร์ เดียริง (Christopher Dearing) ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ศูนย์เอกสารแห่งกัมพูชา (Documentation Center of Cambodia) อันเป็นหอจดหมายเหตุแห่งสำคัญที่สุดของประเทศในเรื่องการเก็บรวบรวมเอกสารของยุคเขมรแดง มีความเห็นมากเป็นพิเศษต่อมาตรา 2 ของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งระบุครอบคลุมถึงคำพูดคำแถลงที่เก็บอยู่ในรูปของสื่อที่เป็นเสียง สื่อที่เป็นภาพ ตลอดจนสื่ออิเล็กทรอนิก ในทัศนะของเดียริงแล้ว “คำถามที่จะเป็นต้องถามกันก็คือ เราจะตีความข้อจำกัดดังกล่าวนี้ไปได้กว้างขวางขนาดไหน” เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า มันไม่ชัดเจนเลยว่า กฎหมายฉบับนี้ถือว่า พวกเฟซบุ๊ก, ทวีตเตอร์, และสื่อสังคมอื่นๆ เป็นเวที “สาธารณะ” ด้วยหรือไม่

เดียริงเสนอแนะว่า บางทีประวัติศาสตร์ของกัมพูชาอาจจะมีความสลับซับซ้อน และมีรายละเอียดอันจำแนกแยกแยะได้ยากเย็นเกินกว่าที่กฎหมายความยาว 5 มาตรานี้จะสามารถตีกรอบครอบคลุมได้หมด “ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปนั้น มันมีขบวนการที่มุ่งแก้ไข, ลดทอน, หรือกระทั่งปฏิเสธเรื่องการฆ่าล้างผลาญเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) และความพยายามเหล่านี้ก็มีความชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับเจตนารมณ์ที่จะหว่านเพาะความเกลียดชังและการแบ่งแยกเชื้อชาติ ทว่าสภาวการณ์เช่นนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในกัมพูชา แต่ถ้าหากจะถามว่ามีการบิดเบือนในระดับหนึ่งระดับใดเกี่ยวกับยุคสมัยในประวัติศาสตร์นี้ (ยุคระบอบเขมรแดง) หรือไม่ละก้อ มันก็มีอยู่อย่างแน่นอนที่สุด” เขาบอก

“แต่ผมคิดว่าปัญหาไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่ามีการปฏิเสธไม่ยอมรับประวัติศาสตร์เรื่องเขมรแดงในที่สาธารณะ หากแต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการศึกษามากกว่า การไม่เชื่อและการบิดเบือนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เรื่องนี้ คือเครื่องบ่งบอกให้เห็นถึงความจำเป็นอันแจ้งชัดที่จะต้องมีการถกเถียงอภิปราย, การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร, และการศึกษา ให้มากขึ้น -ทว่ากฏหมายฉบับนี้กลับรรจุเอาไว้ด้วยความเสี่ยงที่จะบดบังขัดขวางกระบวนการทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้”

โจ ฟรีแมน เป็นผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการอยู่ที่หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ (Phnom Penh Post) ในกัมพูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น