เอเอฟพี - ตุรกีเตือนเมื่อวันจันทร์ (18) อาจดึงทหารเข้าช่วยปราบปรามการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ลุกลามอยู่ทั่วประเทศ หลังจากช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุปะทะกันอย่างหนักหน่วงระหว่างตำรวจปราบจลาจลกับผู้ประท้วง ส่งให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น
การปรากฏตัวของทหารบนท้องถนนจะเป็นเครื่องหมายแสดงว่าวิกฤตที่เกาะกุมประเทศแห่งนี้มานานเกือบ 3 สัปดาห์ ได้ลุกลามบานปลายและเสี่ยงเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อรัฐบาลรากฐานอิสลามของนายกรัฐมนตรีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดแกน
ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นขณะที่ตำรวจยังคงฉีดแก๊สน้ำตาและน้ำเข้าใส่ผู้ชุมนุมในอิสตันบูลและกรุงอังการา ท่ามกลางเหตุปะทะครั้งใหญ่ หลังจากเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พยายามเข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วงที่บุกยึดสวนสาธารณะเกซีในอิสตันบูล ศูนย์กลางแห่งการเคลื่อนไหวประท้วง จนเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือด
“ตำรวจจะใช้อำนาจทุกอย่างที่มีเพื่อยุติความไม่สงบ” นายบูเลนท์ อารินซ์ รองนายกรัฐมนตรีตุรกีให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ “หากนี่ยังไม่เพียงพอ เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากกองกำลังตุรกีในเมืองต่างๆ”
ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงานหลัก 2 แห่งของตุรกีเริ่มต้นประท้วงทั่วประเทศเพื่อแสดงพลังต่อต้านการปราบปรามผู้ชุมนุมในสวนสาธารณะเกซีของตำรวจและเรียกร้องรัฐบาลเลิกตราหน้าการชุมนุมว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยสหภาพแรงงาน KESK และ DISK ซึ่งมีสมาชิกรวมกันหลายแสนคน ระบุว่ามีแผนจัดชุมนุมในช่วงบ่าย เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจยุติการใช้ความรุนแรงในทันที
กองทัพซึ่งครั้งหนึ่งเคยทรงอำนาจของตุรกีและเคยก่อรัฐประหารมาแล้ว 5 ครั้งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา นิ่งเงียบมาตลอดตั้งแต่ความยุ่งเหยิงเปิดฉากขึ้น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศที่ทหารไม่เข้าแทรกแซงวิกฤตทางการเมือง
ในเรื่องนี้เหล่านักสังเกตการณ์ให้แสดงความเห็นว่าฝ่ายทหารที่สนับสนุนแยกศาสนาออกจากการเมือง วางตัวอยู่วงนอกอย่างมั่นคง ตลอดระยะเวลาที่นายเออร์โดแกน ครองอำนาจช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้พบเห็นนายทหารบางส่วนถูกส่งเข้าประจำการตามจุดสำคัญๆ ในอิสตันบูลเมื่อสุดสัปดาห์อยู่บ้างก็ตาม อย่างไรก็ตาม คำพูดของนายอารินซ์บ่งชี้ว่าอาจได้เห็นทหารบนท้องถนนของตุรกีอีกครั้ง หากสถานการณ์ยังคงลุกลามบานปลาย
เมื่อวันอาทิตย์ (16) เออร์โดแกน ได้ปราศรัยกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (AKP) ของเขา มากกว่า 100,000 คน โดยยืนกรานว่าการที่เขาออกคำสั่งปราบปรามผู้ประท้วงขั้นรุนแรงที่สวนสาธารณะในเมืองอิสตันบูลถือเป็นการทำตามหน้าที่ หลังจากผู้ประท้วงเพิกเฉยต่อคำเตือนของเขา
“ผมกล่าวว่าเรามาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ซึ่งมันเกินจะทนได้แล้ว ปฏิบัติการเมื่อวานนี้ (15) ก็สำเร็จลุล่วงและทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อย” เออร์โดแกนบอก “ในฐานะที่เป็นนายกฯ ผมจำเป็นต้องทำ”
การปักหลักชุมนุมอย่างสันติเพื่อปกป้องต้นไม้ราวๆ 600 ต้นในสวนสาธารณะเกซี แปรเปลี่ยนเป็นเหตุความไม่สงบ หลังจากในวันที่ 31 พฤษภาคม ตำรวจใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างโหดร้ายต่อพวกที่รณรงค์คัดค้านโครงการพัฒนาสวนเกซีกลุ่มเล็กๆ ต่อจากนั้นความวุ่นวายก็ขยายวงเป็นการแสดงความไม่พอใจของมวลชนต่อการปกครองของเออร์โดแกน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำตัวเป็นผู้เผด็จการที่มุ่งเชิดชูค่านิยมอนุรักษนิยมแบบอิสลามเคร่งจารีตมากขึ้นเรื่อยๆ
จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย ในนั้นมีตำรวจรวมอยู่ด้วย 1 นาย และบาดเจ็บอีกราว 5,000 คนในเหตุความไม่สงบที่กัดเซาะภาพลักษณ์ของตุรกีในฐานะต้นแบบประชาธิปไตยอิสลาม
เพื่อตอบโต้เหตุปราบปรามผู้ชุมนุมในสวนสาธารณะเมื่อวันเสาร์ (15) จุดที่นักเคลื่อนไหวตั้งเต็นท์ปักหลักประท้วงมาหลายสัปดาห์ เหล่าผู้ประท้วงหลายพันคนต่างหลั่งไหลไปบนท้องถนนสายต่างๆ ใน 2 เมืองหลักของตุรกีและเกิดการปะทะกับตำรวจด ขณะที่มีรายงานว่าเฉพาะแค่วันอาทิตย์ (16) วันเดียว มีผู้ถูกจับกุมไปเกือบ 600 ราย