xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ระบุ'ดีแล้ว'GDPโลก-ตลาดเกิดใหม่ปีนี้'แผ่ว' แต่เตือนให้ระวังผลข้างเคียงชาติใหญ่ยุติแผนกระตุ้นศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ธนาคารโลกระบุเศรษฐกิจโลกปีนี้จะโตช้ากว่าปีที่แล้ว เนื่องจากการถดถอยเกินคาดในยุโรป ขณะที่การขยายตัวของประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่บางชาติก็เริ่มชะลอตัว อย่างไรก็ดี นี่ถือเป็นรูปแบบการเติบโตที่สมดุลมากขึ้น พร้อมกันนี้เวิลด์แบงก์ยังบอกด้วยว่า ยูโรโซนและอเมริกาไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงระยะยาวอีกต่อไป แต่ควรจับตาผลข้างเคียงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของพวกประเทศมั่งคั่งซึ่งจะเกิดกับตลาดเกิดใหม่

ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้ง เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลกในปีนี้จะเติบโตในอัตรา 2.2% ลดลงจากปีที่แล้ว 0.1% และก็เป็นการปรับลงมา0.2% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมกราคมของธนาคารโลกเอง

สำหรับปีหน้า รายงานฉบับล่าสุดนี้คาดหมายตัวเลขไว้ที่ 3% และบอกว่าหลังจากนั้นก็จะขยับขึ้นเป็น 3.3% ในปี 2015

แอนดริว เบิร์นส์ ผู้นำการจัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวระหว่างเผยแพร่รายงานเมื่อวันพุธ (12) ว่า ในช่วงต่อไปเศรษฐกิจโลกจะผันผวนน้อยลง ขณะที่การเติบโตจะชะลอลงซึ่งก็สอดคล้องกับศักยภาพที่ซ่อนอยู่ และนำไปสู่สถานการณ์ปกติหลังวิกฤต เนื่องจากการขยายตัวอย่างร้อนแรงช่วงก่อนวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 นั้นเป็นผลจากปรากฏการณ์ฟองสบู่

เบิร์นส์แจงว่า ส่วนหนึ่งของสถานการณ์ปกติครั้งใหม่คือ การเติบโตชะลอลงในพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อย่างบราซิล อินเดีย รัสเซีย และจีน เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลง และเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีการปรับสมดุล

รายงานฉบับนี้ได้ปรับลดการคาดการณ์จีดีพีในปีนี้ของพวกประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งปีที่แล้วก็อยู่ในภาวะขยายตัวเชื่องช้าที่สุดในรอบทศวรรษ โดยในคราวนี้ให้ไว้ที่ 5.1% จากที่เคยคาดไว้ 5.5% เมื่อตอนต้นปี อย่างไรก็ดี เวิลด์แบงก์บอกว่าการเติบโตของประเทศเหล่านี้จะฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ในอนาคต โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 5.6% ในปีหน้า และ 5.7% ในปีต่อไป

ก่อนวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 ประเทศกำลังพัฒนาโดยรวมเติบโตอย่างน่าตื่นตาตื่นใจที่ราว 7.5% โดยเฉพาะจีนที่จีพีดีโลดลิ่วถึงระดับ 10%

ทว่า ช่วงหลายสัปดาห์มานี้ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า การขยายตัวของแดนมังกรกำลังเสียศูนย์อย่างรวดเร็ว ในส่วนธนาคารโลกปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีจีนอยู่ที่ 7.7% สำหรับปีนี้ จากที่เคยคาดไว้ในระดับ 8.4% เมื่อเดือนมกราคม

เบิร์นส์ยืนยันว่า สภาวการณ์เช่นนี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจากคาดกันมานานแล้วว่า การขยายตัวแบบก้าวกระโดดของจีนจะต้องชะลอความเร็วลง ขณะที่เศรษฐกิจปรับสมดุลจากการเติบโตที่หนุนนำโดยการลงทุน มาเป็นการเติบโตซึ่งมุ่งเน้นการบริโภคภายในมากขึ้น

ธนาคารโลกยังระบุว่า วิกฤตยูโรโซนและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอีกต่อไป แต่ประเทศกำลังพัฒนาควรจับตาผลข้างเคียงจากมาตรการทางการเงินขนาดใหญ่ของประเทศชั้นนำอย่างอเมริกาและญี่ปุ่นแทน

ญี่ปุ่นนั้นริเริ่มโครงการกว้านซื้อพันธบัตรมูลค่ามหาศาลในเดือนเมษายนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากการตกต่ำนานนับสิบปี ทำให้เกิดความกังวลกันว่า เงินทุนอาจไหลทะลักเข้าท่วมตลาดเกิดใหม่ และทำให้เกิดภาวะเติบโตร้อนแรงเกินไป

อย่างไรก็ดี มาถึงสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นตกหนักทั่วโลก เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ประเทศใหญ่ๆ โดยเฉพาะอเมริกา อาจยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เคาชิก บาซู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกระบุว่า สำหรับตลาดเกิดใหม่ ความผันผวนนี้จะไม่ส่งผลรุนแรงในระยะกลาง แม้อาจทำให้มีการผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าก็ตาม นอกจากนี้ การยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังน่าจะช่วยลดความร้อนแรงอันเป็นผลจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของญี่ปุ่นลงอีกด้วย

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเหตุการณ์หลังจากนั้น เมื่อเฟดและธนาคารกลางประเทศอื่นๆ หันมาใช้นโยบายการเงินแบบเคร่งครัด แล้วส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวเริ่มดีดขึ้น

ดอกเบี้ยที่แพงขึ้นจะทำให้ต้นทุนเงินทุนในตลาดเกิดใหม่พุ่งขึ้น การลงทุนด้านเงินทุนจึงมีแนวโน้มชะลอลง และบั่นทอนการเติบโตในระยะยาว เว้นแต่จะมีการดำเนินมาตรการเพื่อลดปัจจัยภายในประเทศที่กระตุ้นต้นทุนของเงินทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น