เอเจนซีส์ – นโยบายคว่ำบาตรของชาติตะวันตกได้ผลมากกว่าทุกครั้ง บีบให้เศรษฐกิจอิหร่านตกต่ำสุด ประกอบกับการส่งออกน้ำมันอิหร่านดิ่งตัวลงในรอบ 26 ปี ถือเป็นข่าวร้ายที่เกิดขึ้นก่อนมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่าน
แม้ภาวะเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ค่าของสกุลเงินอิหร่าน กลับดิ่งลง ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่าอิหร่านยังสามารถอยู่ได้จากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ทางกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประเมินว่าการส่งออกน้ำมันของอิหร่านหดเหลือ 69 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2012 โดยเป็นการลดลงถึง 27 เปอร์เซ็นต์ จาก 95 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2011
ขณะที่หน่วยงานพลังงานระหว่างประเทศซึ่งเป็นกระบอกเสียงของชาติตะวันตกต่างประเมินว่า อิหร่านต้องสูญเสียรายได้มากกว่า 40 พันล้านดอลลาร์ในปี 2012 หรือ 2.4 พันล้านต่อเดือน จากผลพวงของการที่ชาติตะวันตกสกัดเส้นทางการเงินในการซื้อขายน้ำมันของอิหร่านอย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้รัฐบาลเตหะรานเริ่มแลกเปลี่ยนน้ำมันกับสินค้า ในขณะที่อินเดียผู้ซื้อรายใหญ่จ่ายเป็นเงินสกุลรูปี
ถึงแม้กระนั้น มีข้อมูลว่าอิหร่านซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นชาติผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 รองจากซาอุดีอาระเบียในกลุ่มโอเปก ได้แอบเก็บน้ำมันดิบกว่าล้านบาร์เรลในเรือบรรทุกน้ำมันที่ทอดสมออยู่ที่อ่าวเปอร์เซีย
อย่างไรก็ตาม จำนวนน้ำมันดิบที่อิหร่านเก็บสะสมไว้ในปีนี้ มีปริมาณสูงกว่าปกติ เพราะขาดประเทศผู้ซื้อจากเอชีย ซึ่งเป็นตลาดน้ำมันส่งออกที่สำคัญของอิหร่าน เนื่องจากผลของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจนำโดยสหรัฐฯและสหภาพยุโรปในช่วงกลางปี 2010
ภาวะทางเศรษฐกิจของอิหร่านในเวลานี้ดูเหมือนว่ากำลังเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่อิหร่านกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งใหญ่ในอีก 6 สัปดาห์ข้างหน้า
การเลือกตั้งสมัยนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการชิงอำนาจกันของ 2 ผู้นำคนสำคัญในประเทศอย่างอยาตอลลาห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสุงสุดของอิหร่าน และประธานาธิบดี 2 สมัย อย่างประธานาธิบดี มะห์มุด อะห์มาดิเนจัด ที่กำลังจะอำลาตำแหน่ง
ประชาชนชาวอิหร่านนับล้านกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการคว่ำบาตรของต่างชาติ ค่าเงินเรียลอิหร่านตกอย่างต่อเนื่อง ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นไม่หยุด และอัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นจะจุดชนวนความไม่พอใจของประชาชนให้แพร่ขยายออกไป
ทั้งนี้ การคว่ำบาตรรอบใหม่ที่ประกาศในเดือนเมษายน มุ่งไปที่บังคับให้อิหร่านล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์ โดยบรรดาชาติตะวันตกต่างพุ่งเป้าบีบอิหร่านไปที่การส่งออกน้ำมันที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยไม่ให้อิหร่านสามารถขายน้ำมันให้กับตลาดเอชียอย่าง อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้ตามปกติ ขณะที่สหภาพยุโรปได้เริ่มมาตรการคว่ำบาตรโดยห้ามบริษัทในอียูรับประกันภัยทางตรงและทางอ้อม ทำธุรกรรมประกันโรงกลั่นน้ำมันที่กลั่นน้ำมันนำเข้าจากอิหร่าน
ด้าน สำนักงานข้อมูลพลังงานของสหรัฐฯ หรือ อีไอเอ ให้ความเห็นว่า มาตรการเหล่านี้มีผลกับการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน โดยอีไอเอยังประเมินว่าอิหร่านส่งออกน้ำมันประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2012 เป็นปริมาณที่ต่ำสุดตั้งแต่ปี 1986 และอุตสาหกรรมปิโตรเลียมอิหร่าน กำลังประสบปัญหาอย่างหนักเพราะการถูกผลกระทบต่อการคว่ำบาตร