เอเอฟพี - การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นกับองค์กรทั่วโลกในปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นฝีมือแฮกเกอร์ในจีนและโรมาเนีย โดยกรณีของจีนมักเป็นแฮกเกอร์ที่ทำงานให้กับรัฐ และมีจุดประสงค์เพื่อจารกรรมข้อมูลเป็นหลัก รายงานล่าสุดจากเวอไรซอน (Verizon) ในสหรัฐฯ เผยวานนี้ (23)
รายงานการเจาะข้อมูลในปี 2013 (2013 Data Breach Investigations report) ของเวอไรซอน ระบุว่า ร้อยละ 30 ของอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ 621 ครั้ง ที่ได้รับการยืนยันแล้ว มีต้นตอจากแฮกเกอร์ในจีน ส่วนอีกร้อยละ 28 และ 18 เป็นฝีมือกลุ่มแฮกเกอร์ในโรมาเนีย และสหรัฐฯ ตามลำดับ
เวอไรซอนชี้ว่า แฮกเกอร์ชาวจีนจะเน้นจารกรรมข้อมูลลับเป็นหลัก ขณะที่แฮกเกอร์ในสหรัฐฯ และโรมาเนียมักทำโดยหวังผลประโยชน์ด้านการเงิน
“การเจาะระบบคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นในปี 2012 ส่วนใหญ่เป็นฝีมือแฮกเกอร์ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน การขโมยไอพี (intellectual property) โดยแฮกเกอร์กลุ่มนี้คิดเป็น 1 ใน 5 ของการเจาะระบบทั้งหมด”
“สิ่งที่เราพบอาจหมายความว่า แฮกเกอร์กลุ่มอื่นสามารถปิดบังกิจกรรมของพวกเขาได้แนบเนียนกว่า แต่ขณะเดียวกันก็อาจกล่าวได้ว่าจีนเป็นแหล่งที่มาของการจารกรรมข้อมูลภาครัฐและอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน”
เวอไรซอนเผยว่า ปีที่แล้วมีรายงานการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นราว 47,000 ครั้ง ส่วนใหญ่มีต้นเหตุจากความประมาทเลินเล่อของคนในบริษัทเอง ซึ่งอาจทำอุปกรณ์บันทึกข้อมูลสูญหายหรือส่งอีเมลผิด จนเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทได้
จากสถิติอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ 621 ครั้งที่กล่าวมา ร้อยละ 19 เป็นฝีมือแฮกเกอร์ที่ทำงานให้ภาครัฐ และเกือบทั้งหมดในกลุ่มนี้เป็นแฮกเกอร์จีนที่ไม่มีเหตุจูงใจทางการเงิน อีกร้อยละ 40 เกิดจากการทำงานของแฮกเกอร์ในโรมาเนีย, รัสเซีย และบัลแกเรียที่หวังฉ้อโกงเงิน โดยใช้วิธีการหลากหลายรูปแบบ เช่น การส่งมัลแวร์, การแฮกข้อมูล, การส่งอีเมลลวง (ฟิชชิง) และเทคนิคอื่นๆ