เอเอฟพี - สื่อรัฐบาลจีนยกย่อง มาร์กาเรต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งอังกฤษว่าเป็นผู้นำที่มีความ “โดดเด่น” และมีทักษะการประนีประนอมอย่างชาญฉลาดในการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีน วันนี้ (9)
ข่าวการจากไปของหญิงเหล็กแห่งเมืองผู้ดีในวัย 87 ปี กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์จีนแทบทุกฉบับ ขณะที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ไชน่า เดลีถึงกับอุทิศหน้าหลังทั้งหมดเพื่อเรื่องราวของ “แธตเชอร์” โดยเฉพาะ
แธตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ลอนดอนและปักกิ่งจะต้องตัดสินอนาคตของดินแดนอาณานิคมอังกฤษในทะเลจีนใต้ เนื่องจากสัญญาเช่าเกาะฮ่องกงใน “ดินแดนใหม่” (New Territories) เป็นเวลา 99 ปีนั้นหมดอายุลงในปี 1997
บทบรรณาธิการของโกลบัลไทม์ส ระบุว่า การลงนามในปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ ปี 1984 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีน ถือเป็นการแสดงท่าทีผ่อนปรนครั้งสำคัญของแธตเชอร์ ทั้งที่ 2 ปีก่อนหน้านั้นอังกฤษเพิ่งจะทำสงครามกับอาร์เจนตินา เพื่อป้องกันกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ซึ่งแธตเชอร์ก็ได้แสดงบทบาทผู้นำหญิงที่แข็งแกร่งให้โลกได้ประจักษ์
“แต่แธตเชอร์ก็เข้าใจว่าจีนไม่เหมือนกับอาร์เจนตินา และฮ่องกงก็มิใช่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์” โกลบัลไทม์สระบุ
“สถานการณ์การเมืองที่ซับซ้อนในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ถือเป็นยุคทองของนักการเมืองด้วยนั้น ทำให้เธอเป็นผู้นำหญิงที่โดดเด่นมาก”
อย่างไรก็ดี สื่อจีนฉบับนี้ชี้ว่า “จุดยืนที่แข็งปานโลหะ” ของแธตเชอร์ ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ในปัจจุบันเสียแล้ว เนื่องจาก “ยุโรปเสื่อมอำนาจลง” และ “วิวัฒนาการของวัฒนธรรมการเลือกตั้งในตะวันตกก็ทำให้บรรดานักการเมืองด้อยประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ”
เพียง 1 ทศวรรษหลังจากที่ฮ่องกงกลับไปสู่อ้อมอกจีน แธตเชอร์ ออกมาแสดงความเสียใจที่เธอไม่อาจโน้มน้าวให้อดีตประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง ยอมอนุญาตให้อังกฤษเช่าเกาะฮ่องกงต่อไปอีก
นักเสรีนิยมซึ่งพยายามต่อสู้เพื่อวางวางรากฐานประชาธิปไตยแก่ฮ่องกงก่อนจะกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน ยังมีความเห็นแตกต่างกันเมื่อเอ่ยถึงมรดกที่แธตเชอร์ทิ้งไว้
“ฉันคิดว่าเธอไม่ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชาวฮ่องกง ระหว่างที่เจรจากับจีน” เอมิลี เหลา ประธานพรรคประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์
“ใครจะไม่โกรธได้เล่า อังกฤษปกครองฮ่องกงมานานกว่าร้อยปี แต่กลับไม่เคยปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตยให้เรา แม้กระทั่งเมื่อวางแผนจะส่งคืนเกาะให้แก่จีนแล้ว”
อย่างไรก็ดี ยังมีบางคนที่เห็นว่าแธตเชอร์ทำดีที่สุดแล้วเพื่ออนาคตของเกาะฮ่องกง
เซลินา โจว อดีตนักการเมืองซึ่งเข้าร่วมพิธีลงนามปฏิญญาจีน-อังกฤษเมื่อปี 1984 ยืนยันกับหนังสือพิมพ์เดอะ สแตนดาร์ด ว่า แธตเชอร์ “พยายามหาจุดสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของอังกฤษกับเกาะฮ่องกง” ในขณะที่ แอนสัน ชาน อดีตผู้นำหมายเลข 2 ของรัฐบาลเกาะฮ่องกง และนักต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลือกตั้งอย่างสากล กล่าวชมเชยว่า แธตเชอร์ “วางรากฐานที่เข้มแข็ง” ซึ่งนำมาสู่ความเจริญก้าวหน้าของเกาะฮ่องกง