เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ทางการทาจิกิสสถานเผยในวันศุกร์ (5) ระบุว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยจาก “กับระเบิด” ในประเทศตัวเองกว่า 7.5 ล้านตารางเมตร และมีประชาชนมากกว่า 350,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
พาร์วิซ มาฟลอนคูลอฟ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการเก็บกู้กับระเบิดแห่งชาติออกมายอมรับว่า ทาจิกิสถานยังคงมีกับระเบิดฝังอยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมาก คิดเป็นพื้นที่กว่า 7.5 ล้านตารางเมตร โดยส่วนใหญ่ถูกฝังในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในสาธารณรัฐแห่งภูมิภาคเอเชียกลางแห่งนี้ในระหว่างปี 1992-1997
นอกจากกับระเบิดที่ถูกฝังในช่วงสงครามกลางเมืองแล้ว มีการเปิดเผยว่าพื้นที่บริเวณรอยต่อพรมแดนทาจิกิสถานและอัฟกานิสถานยังมีกับระเบิดอีกจำนวนมากที่ฝังเอาไว้โดยทหารของรัสเซียตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 เพื่อปกป้องพื้นที่จากการรุกรานของพวกกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติที่มักข้ามพรมแดนจากฝั่งอัฟกานิสถานเข้ามาเคลื่อนไหวในทาจิกิสถานเป็นประจำ
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2000 รัฐบาลทาจิกิสถานได้เข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาออตตาวาว่าด้วยการต่อต้านการใช้กับระเบิด และได้รับเงินช่วยเหลือจากสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆในการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ฝังอยู่ใต้ดิน แต่จนถึงขณะนี้ยังคงมีกับระเบิดจำนวนมากถูกฝังกระจายอยู่ทั่วประเทศ แม้ทางการทาจิกิสถานจะตั้งเป้าเคลียร์กับระเบิดให้หมดไปจากประเทศของตนภายในปี 2020
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดระบุว่ามีประชาชนมากกว่า 350,000 คนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากกับระเบิดในทาจิกิสถาน และตลอดระยะเวลา 15 ปีมานี้มีผู้เสียชีวิตจากการเหยียบกับระเบิดในทาจิกิสถานไปแล้วอย้างน้อย 356 คน และได้รับบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 500 คน ซึ่งราว 1 ใน 3 ของเหยื่อเป็นเด็ก