เอเอฟพี - ประชากรอินโดนีเซียกว่าครึ่งประเทศอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม โดยสาเหตุหลักเกิดจากวัฒนธรรมการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม เจ้าหน้าที่อิเหนาแถลงวันนี้ (28)
สุโตโป ปุรโว นูโกรโฮ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (BNPB) อ้างผลการวิจัยซึ่งพบว่า ชาวอินโดนีเซียราว 124 ล้านคนจากทั้งหมด 240 ล้านคนทั่วประเทศ อาศัยอยู่ในเขตเสี่ยงดินถล่มระดับกลางไปจนถึงระดับสูง
“การเพิ่มขึ้นของประชากร บวกกับปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุให้ดินถล่มเกิดบ่อยขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดเกิดจากปัญหาดินเสื่อมสภาพเพราะการทำเกษตรกรรม” นูโกรโฮให้สัมภาษณ์
ฝนซึ่งตกหนักในฤดูมรสุมทำให้เกิดดินถล่มทางภาคตะวันตกของเกาะชวา เมื่อวันจันทร์ (25) ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิต 12 ราย สูญหายไปอีก 5 คน
ผลการศึกษาเมื่อปี 2012 ซึ่งเผยแพร่โดยบีเอ็นพีบี, สำนักงานสถิติกลาง และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNPF) พบว่า บริเวณเชิงเขาของเกาะชวาซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น จะเกิดดินถล่มบ่อยกว่าพื้นที่อื่น
“การแผ้วถางป่าเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง และจากที่เราคาดว่าปริมาณน้ำฝนจะมากขึ้นโดยเฉพาะในฤดูมรสุม อนาคตคงจะต้องเกิดดินถล่มบ่อยขึ้นกว่านี้ นี่เป็นปัญหาสำคัญทีเดียว” นูโกรโฮกล่าว
การตัดไม้ทำลายป่าและปัญหาดินเสื่อมสภาพซึ่งทำลายระบบรากของต้นไม้ เป็นสาเหตุของการเกิดดินถล่มชนิดตื้น (shallow landslides) ซึ่งพบได้บ่อยในอินโดนีเซีย ประกอบกับภาวะน้ำท่วมและแผ่นดินไหวซึ่งมีส่วนทำให้พื้นดินอยู่ในสภาพไม่มั่นคง
ในปีนี้เกิดดินถล่มในอินโดนีเซียแล้ว 58 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายไป 107 ราย