อัญจาซีราห์ - สื่อดังแดนอาหรับระบุการเจรจารอบแรกที่นำสันติภาพคืนสู่หลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทย จะมีขึ้นที่เมืองหลวงของมาเลเซียในวันพฤหัสบดี(28) แต่นักวิเคราะห์เตือนคงต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าที่ข้อตกลงจะคลี่คลายความขัดแย้ง อันคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 5,500 คนตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
สำนักข่าวอัลจาซีราห์รายงานว่าเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลและกองทัพไทย จะพบปะกับตัวแทนของฝั่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบาริซาน เรโวลูซิ นาชันนัล(บีอาร์เอ็น) หรือ"แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ" สำหรับการเจรจาซึ่งมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลาง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องแต่งตั้ง อาห์มัด ซัมซามิน ฮาชิม อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิอิสลามิก ดาวะห์ ของมาเลเซีย ซึ่งทำงานด้านพัฒนาความเข้าใจอิสลามิก เป็นผู้ประสานงานเจรจา
สื่อมวลชนแห่งนี้ระบุในรายงานว่า 3 จังหวัดใต้สุดของไทย อันประกอบด้วยนราธิวาส ปัตตานีและยะลา อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ มากกว่า 1,000 กิโลเมตร มีความอึดอัดมาอย่างยาวนานภายใต้การปกครองของไทย ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลืมและพูดภาษามาเลย์
รายงานข่าวของอัลจาซีราห์บอกด้วยว่าดินแดนแถบนี้เคยเป็นอิสระมีสุลต่านปกครองตนเอง จนกระทั่งถูกผนวกเข้ากับสยามประเทศ ในปี 1902 พร้อมอ้างว่าชาวบ้านท้องถิ่นถูกสั่งให้พูดไทยและใช้ชื่อไทย แต่หลายคนยังคงรักษาธรรมเนียมปฏิบัติของตนเองหรืออย่างน้อยๆก็ดำเนินการแบบลับๆ และความคุกรุ่นภายในใจเหล่านั้นก็ระเบิดออกมาเป็นการเริ่มก่อความไม่สงบช่วงยุคทศวรรษ 1940
อย่างไรก็ตามด้วยการปลอบโยนต่างๆนานาของรัฐบาลไทย ในนั้นรวมถึงกองทุนพัฒนาและส่งเสริมให้มีตัวแทนทางการเมือง ก็สามารถช่วยบรรเทาความไม่พอใจเหล่านั้น ทว่ากระทั่งปี 2004 ยุคสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เหตุความรุนแรงก็ถูกจุดชนวนขึ้น จากเหตุนักรบติดอาวุธบุกค่ายทหาร ปลิดชีพเจ้าหน้าที่ 4 นายและขโมยอาวุธไปจำนวนมาก
จากนั้นในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน สถานการณ์ก็ถึงจุดระเบิด เมื่อมีผู้ประท้วง ณ มัสยิดตากใบ เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขาดอากาศหายใจ หลังถูกจับกุมและโยนขึ้นท้ายรถบรรทุกทหารที่แออัดยัดเยียด เหตุการณ์นี้ได้โหมเชื้อความโกรธกริ้ว แล้วท้ายที่สุดก็นำมาซึ่งการขยายตัวของเหตุความรุนแรง
อัลจาซีราห์อ้างคำพูดของเหล่าผู้เชี่ยวชาญบอกว่าด้วยประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหวของพื้นที่แถบนี้ ตัวแทนเจรจาจึงจำเป็นต้องทำงานอย่างหนักเพื่อกำหนดกรอบที่พอจะเป็นไปได้สำหรับการพูดคุย
"พวกเขาจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อการวางรากฐาน รากฐานที่จะต้องมีความแข็งแกร่งพอสำหรับเดินหน้าเจรจา" เฮริซาล ฮาซรี เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเอเซีย ในมาเลเซีย กล่าว
ทั้งนี้ ฮาซรี เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาสันติภาพทางใต้ของฟิลิปปินส์ การเจรจาที่มีมาเลเซียเป็นคนกลางเช่นกัน "สำหรับทางใต้ของฟิลิปปินส์ กว่าที่คุณจะเห็นข้อตกลงสันติภาพเมื่อปีที่แล้ว มันต้องใช้เวลานานกว่า 21 ปี" เขากล่าว "และสำหรับทางใต้ของ ก็คงไม่ต่างกัน"