xs
xsm
sm
md
lg

บังกลาเทศประกาศไว้อาลัย 3 วัน หลังประธานาธิบดีถึงแก่อสัญกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) ประธานาธิบดีซิลเลอร์ ราห์มาน แห่งบังกลาเทศ ซึ่งตอนนี้ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในวันพุธ(20)
เอเอฟพี - ประธานาธิบดีซิลเลอร์ ราห์มาน แห่งบังกลาเทศ ซึ่งมีบทบาทเฉพาะด้านพิธีการเป็นส่วนใหญ่ หลังได้รับเลือกจากรัฐสภาในปี 2009 ถึงแก่อสัญกรรมขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งของสิงคโปร์เมื่อวันพุธ (20) ด้วยสิริอายุ 84 ปี ขณะที่รัฐบาลประกาศไว้ทุกข์ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน

ราห์มาน ซึ่งป่วยเป็นโรคไตและระบบทางเดินหายใจ ถูกนำส่งทางอากาศฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลเมาท์ อลิซาเบธ ของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม หลังอาการทรุดหนักลง ก่อนถึงแก่อสัญกรรมในช่วงเย็นวันพุธ (20)

รัฐบาลประกาศไว้ทุกข์เป็นเวลา 3 วัน ขณะที่นายกรัฐมนตรีชีค ฮาซินา ยอมรับว่ารู้สึกช็อกอย่างยิ่งและบอกว่าการจากไปของราห์มานครั้งนี้ นับเป็นการสูญเสียที่มิอาจทดแทนได้ของประเทศและประชาชนทุกคน

นายชาฟิอุล อาลาม เลขาธิการของนายราห์มาน เผยว่าศพของอดีตรองประธานพรรคอวามี ลีก จะถูกส่งกลับประเทศด้วยเครื่องบินในวันพฤหัสบดี (21) ทว่าในส่วนของกำหนดพิธีศพนั้นจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง

ก่อนหน้าก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี นายราห์มานเคยมีอาชีพเป็นทนายความและกลายเป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่ครองเก้าอี้ยาวนานที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 1973 ทั้งนี้นายราห์มาน เริ่มมีชื่อเสียงด้วยการเป็นนักเคลื่อนไหวผลักดันบังกลาเทศแยกตัวเป็นเอกราชจากปากีสถาน

พรรคอวามี ลีก ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2008 และนายราห์มาน กลายเป็นสมาชิกรัฐสภา 6 สมัยติดต่อกัน ก่อนได้รับเลือกและทำพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 19 ของประเทศในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2009

ไอวี ราห์มาน ภรรยาของนายซิลเลอร์ ราห์มาน ก็เป็นนักการเมืองเช่นกัน แต่เธอเสียชีวิตไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2004 ในเหตุการณ์คนร้ายปาระเบิดโจมตีขบวนชุมนุมของพรรคอวามี ลีก ซึ่งนอกจาก ไอวี แล้ว ยังมีคนอื่นๆต้องมาจบชีวิตลงด้วย 20 ราย

เหตุถึงแก่อสัญกรรมของประธานาธิบดีราห์มาน เกิดขึ้นท่ามกลางเหตุความไม่สงบทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดหนหนึ่งหลังบังกลาเทศได้รับเอกราช ด้วยนับตั้งแต่วันที่ 21 มกราคมเป็นต้นมา มีผู้คนเสียชีวิตไปแล้วอย่างต่ำ 86 ศพ

ทั้งนี้เหตุความไม่สงบดังกล่าว มีต้นตอจากศาลบังกลาเทศ มีคำสั่งแขวนคอประหารชีวิตนักโทษต้องคดีอาชญากรสงคราม ก่อเหตุฆาตกรรม วางเพลิงและข่มขืน ระหว่างสงครามประกาศเอกราชในปี 1971 ซึ่งเหล่านักการเมืองฝ่ายค้านโจมตีว่ามีเป้าหมายเล่นงานเฉพาะแต่ฝ่ายตรงข้าม
กำลังโหลดความคิดเห็น