เอเอฟพี - “คู่หู” ประหลาดระหว่าง เดนนิส ร็อดแมน อดีตนักบาสเกตบอลผู้โด่งดังแห่งทีมชิคาโก บูลส์ กับ คิม จองอึน ผู้นำเผด็จการแห่งเกาหลีเหนือ ซึ่งเพิ่งสร้างความฮือฮาด้วยการชมเกมยัดห่วงเคียงข้างกันในกรุงเปียงยางเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กำลังก่อให้เกิดความฮือฮาและแปลกประหลาดเพิ่มมากขึ้นอีก ด้วยรายงานข่าวที่ว่า พวกเขาวางแผนจะไปพักร้อนด้วยกัน
ร็อดแมน วัย 51 ปีซึ่งปัจจุบันเลิกราจากการเป็นนักกีฬาอาชีพแต่ยังคงคุณสมบัติความฉูดฉาดมากสีสันเอาไว้ เป็นผู้ที่ออกมาประกาศเมื่อวันจันทร์ (11มี.ค.) ที่ผ่านมา เกี่ยวกับแผนการเดินทางไปพักผ่อนร่วมกับผู้นำหนุ่มของเกาหลีเหนือ หลังจากที่เขากลายเป็นชาวอเมริกันคนดังที่สุดที่ได้พบกับ คิม ในระหว่างการเดินทางไปเยือนโสมแดงเมื่อช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ อันเป็นช่วงเวลาที่เกาหลีเหนือแสดงท่าทีข่มขู่คุกคามสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้เจ้าหน้าที่วอชิงตันพยายามลดทอนความสำคัญของการเดินทางของอดีตนักบาสคนดัง โดยยืนยันว่า ร็อดแมนไม่ใช่ตัวแทนของอเมริกา แต่เจ้าตัวแถลงในวันจันทร์ว่า จะกลับไปยังประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวและยากจนข้นแค้นแห่งนั้นอีกครั้ง โดยในระหว่างให้สัมภาษณ์สั้นๆ กับสถานีทีวีท้องถิ่นในมลรัฐนอร์ทดาโคตา ร็อดแมนยังพูดถึงผู้นำคิมว่า เป็นเพื่อนของตน
“ผมไม่ถือสาหาความสิ่งที่เขาทำ เพราะเขาเป็นเพื่อนของผม” เขาบอก และเมื่อถูกถามว่าจะกลับไปเกาหลีเหนือหรือไม่ เขาตอบว่า “ผมจะกลับไปที่นั่นเดือนสิงหาคมนี้ ผมกำลังจะไปพักผ่อนกับเขา”
การเปิดเผยของร็อดแมนมีขึ้นไล่เลี่ยกับที่คิมเพิ่งออกมาประกาศข่มขู่โจมตีเกาะแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ให้ราบคาบ โดยที่เกาหลีเหนือกำลังเผชิญศึกทางการทูตจากการถูกอเมริกาคว่ำบาตรเพิ่มเติม และถูกสหประชาชาติกล่าวหาว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง
สัปดาห์ที่แล้ว แพทริก เวนเทรลล์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเสนอแนะที่ว่า ร็อดแมนสามารถเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเกาหลีเหนือ เนื่องจากมีความสัมพันธ์ชนิดเกินคาดหมายกับคิม
“ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าควรตอบคำถามนี้หรือไม่” เวนเทรลล์บอก “เดนนิส ร็อดแมน ไม่เคยมีบทบาทในแนวทางการทูตของเรา เขาไม่ได้นำความคิดเห็นของสหรัฐฯ ไปแจ้งกับเกาหลีเหนือ และเรามีช่องทางสื่อสารโดยตรงกับเกาหลีเหนืออยู่แล้ว พวกเขาทราบดีว่าจะติดต่อกับเราได้อย่างไร”
“แทนที่จะนำเงินไปจัดการแข่งขันกีฬา เกาหลีเหนือควรให้ความสนใจประชาชน และประพฤติปฏิบัติตัวตามภาระหน้าที่ที่มีต่อนานาชาติมากกว่า”
ปัจจุบัน สหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ แต่ยังรักษาช่องทางสำหรับการสื่อสารผ่านยูเอ็นในนิวยอร์ก นอกจากนั้นยังมีสวีเดนซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางติดต่อระหว่างสองประเทศนี้