xs
xsm
sm
md
lg

คณะคาร์ดินัลเริ่มพิธีสรรหา'โป๊ป'ยังไม่มีใครเป็น'ตัวเก็ง'เด่นชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - บรรดาพระราชาคณะชั้นคาร์ดินัลจากทั่วโลก รวมตัวพรักพร้อมอยู่ในนครวาติกัน เพื่อเริ่มต้นกระบวนการลับในการคัดเลือกประมุของค์ใหม่ของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกตั้งแต่วันอังคาร (12 มี.ค.) เป็นต้นไป โดยที่ไม่มีผู้ใดเป็นตัวเก็งแถวหน้าอย่างชัดเจน แม้มีการพาดพิงถึงผู้ที่ได้รับความนิยมอยู่มากอย่างคาร์ดินัลจากอิตาลี และจากบราซิล

พระคาร์ดินัลจำนวน 115 คนจาก 48 ประเทศ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมุขใหม่องค์ที่ 266 ของชาวคาทอลิก 1,200 ล้านคนทั่วโลก เริ่มการประชุมลับในวิหารน้อยซิสทีนเมื่อวันอังคาร (12) โดยตามพิธีการที่สืบทอดกันมาหลายศตวรรษนั้นเริ่มต้นด้วยการที่คาร์ดินัลเหล่านี้ให้สัตย์ปฏิญาณว่า จะไม่แพร่งพรายสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมลับสู่ภายนอก

เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่วาติกันหลายสิบคนที่เกี่ยวข้องในการประชุมลับ เป็นต้นว่า พ่อครัว คนขับรถ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ก็ให้สัตย์ปฏิญาณอย่างเดียวกันตั้งแต่วันจันทร์ (11) อีกทั้งมีการติดตั้งอุปกรณ์รบกวนสัญญาณเพื่อป้องกันการสื่อสารใดๆ กับภายนอกวิหารน้อย รวมถึงสกัดกั้นการใช้อุปกรณ์ดักฟัง

คณะพระคาร์ดินัลทั้งที่มีสิทธิเลือกตั้ง นั่นคืออายุต่ำกว่า 80 ปีลงมา ตลอดจนผู้ที่อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปและไม่มีสิทธิเข้าไปร่วมกระบวนการในวิหารน้อยซีสทีน ได้ร่วมชุมนุมกันในพิธีแรกของวันอังคาร อันได้แก่พิธีมิสซาพิเศษที่มีชื่อว่า “สำหรับการเลือกพระสันตะปาปาโรมันคาทอลิก” ในมหาวิหารนักบุญเปโตร (เซนต์ปิเตอร์) ตอนช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับช่วงเย็นในไทย) ก่อนที่พระคาร์ดินัลผู้เลือกตั้งจะเข้าสู่วิหารน้อยซิสทีนในเวลา 16.30 น. (ตรงกับ 22.30 น.เวลาเมืองไทย) ซึ่งจะมีการประกาศให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องทุกคนออกไป พร้อมกับปิดประตูลั่นกุญแจ
บรรดาพระคาร์ดินัลเข้าร่วมพิธีมิสซาในวันอังคาร (12 มี.ค.) ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ในนครวาติกัน ก่อนที่จะเริ่มต้นการประชุมลับเพื่อลงคะแนนเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่
จากนั้นคณะคาร์ดินัลจะทำการออกเสียงเป็นรอบแรก โดยที่ทางวาติกันบอกแล้วว่าไม่คาดหมายว่าจะสามารถเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้สำเร็จในวันแรกนี้

ตั้งแต่วันพุธเป็นต้นไป แต่ละวันคณะคาร์ดินัลผู้เลือกตั้งจะทำการลงคะแนนในภาคเช้า 2 รอบ และภาคบ่าย 2 รอบ บัตรลงคะแนนทั้งหมดจะถูกรวบรวมมาเผาทิ้ง พร้อมกับการส่งสัญญาณควันออกมาทางปล่องไฟของวิหารน้อยให้ผู้ที่ติดตามอยู่ภายนอกได้รับทราบ โดยที่มีการเติมสารเคมีพิเศษทำให้หากการลงคะแนนยังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนถึง 2 ใน 3 ซึ่งในคราวนี้คือ 77 เสียง ควันที่ปล่อยขึ้นไปจะเป็นสีดำ ต่อเมื่อมีผู้ได้เสียงครบถ้วนตามเกณฑ์แล้ว ควันที่ปล่อยขึ้นไปจึงจะเป็นสีขาว

เป็นที่คาดกันว่า การประชุมลับของคณะคาร์ดินัลเพื่อเลือกประมุขคริสตจักรคาทอลิกองค์ใหม่สืบแทนพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ทรงสละตำแหน่งเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา จะใช้เวลาในการเลือก 2-3 วัน หรืออาจยืดเยื้อถึง 5 วัน เนื่องจากครั้งนี้ไม่มีตัวเลือกที่โดดเด่นชัดเจน แถมยังมีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์โดยโป๊ปเบเดนิกต์ที่ 16 ให้กลับไปใช้เสียง 2 ใน 3 จึงจะชนะ เปรียบเทียบกับการเลือกครั้งที่แล้วที่ใช้เวลาเพียงวันเดียว โดยที่คราวนั้นใช้กฎเกณฑ์ซึ่งแก้ไขโดยพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 ที่ให้ถือเสียงเกินครึ่งหนึ่งก็เพียงพอแล้ว

สำหรับระยะเวลาเฉลี่ยในการเลือกพระสันตะปาปา 9 องค์หลังสุดที่ผ่านมาคือ 3 วัน และไม่มีครั้งใดใช้เวลาเกิน 5 วัน

แหล่งข่าววงในวาติกันแย้มว่า ตัวเก็งสำคัญที่จับตามองกันมาก คือพระคาร์ดินัลแองเจโล สโกลา จากอิตาลี และพระคาร์ดินัลโอดิโล เชเรอร์จากบราซิล โดยหากเป็นตัวเลือกแรก จะถือเป็นพระสันตะปาปาอิตาลีองค์แรกในรอบ 35 ปี แต่ถ้าเป็นตัวเลือกหลัง จะเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกในรอบ 1,300 ปีที่ไม่ใช่ชาวยุโรป

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้มีคุณสมบัติจากอีกหลายประเทศที่ได้รับการเอ่ยอ้างพาดพิงถึง เป็นต้นว่า พระคาร์ดินัลทิโมธี โดแลน และพระคาร์ดินัลฌอน โอมัลลีย์จากสหรัฐฯ และพระคาร์ดินัลมาร์ก อูลเล็ตจากแคนาดา รวมทั้งพระคาร์ดินัลลีโอนาร์โด แซนดรี จากอาร์เจนตินา

ชาวคาทอลิกบางส่วนเชื่อว่า พระสันตะปาปาองค์ใหม่ต้องมีทักษะในการบริหารหรือสร้างทีมบริหาร เพื่อปฏิรูประบบการทำงานในวาติกัน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของทั้งในยุคพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 และ จอห์นปอลที่ 2

นอกจากนี้ วาติกันยังมีเรื่องอื้อฉาวจากการล่วงละเมิดทางเพศ การต่อสู้ชิงอำนาจกันในสภาปกครองวาติกัน ปัญหาการเงิน และความแพร่หลายของลัทธิฆราวาสนิยม

แหล่งข่าวในวาติกันแย้มว่า สโกลา ที่บริหารเขตศาสนาใหญ่ 2 เขตในอิตาลี อาจมีจุดยืนดีที่สุดในการทำความเข้าใจการเมืองในระบบการบริหารของวาติกัน จึงสามารถเสนอแผนการปฏิรูปที่รวดเร็วได้

อย่างไรก็ดี ว่ากันว่า สภาปกครองวาติกันสนับสนุนเชเรอร์ ที่เคยทำงานในกระทรวงกิจการบิชอปของวาติกันถึง 7 ปี ก่อนกลับไปบริหารเขตศาสนาเซาเปาโล ซึ่งเป็นเขตศาสนานิกายคาทอลิกใหญ่ที่สุดในบราซิล

ในปัจจุบันเนื่องจากมีชาวคาทอลิกเพียง 24% ของทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในยุโรป จึงทำให้มีความกดดันมากขึ้นให้วาติกันเลือกประมุขจากภูมิภาคอื่นๆ เพื่อนำเสนอทัศนคติมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม

ทั้งนี้เห็นกันว่า ผู้มีคุณสมบัติจากละตินอเมริกาน่าจะมีความสนใจเกี่ยวกับปัญหาความยากจนของผู้คนในโลก และการเผยแผ่ศาสนาให้ผู้คนใหม่ๆ หันมาเข้ารีตกันมากขึ้น มากกว่าปัญหาซึ่งเป็นที่ห่วงกังวลกันในโลกตะวันตกอย่างเช่น ความแพร่หลายของลัทธินิยมวัตถุ และปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในคริสตจักร
กำลังโหลดความคิดเห็น