เอเจนซีส์ - ชาวอิตาลีเข้าคูหาหย่อนบัตรลงคะแนนเมื่อวันอาทิตย์ (24 ก.พ.) ในการเลือกตั้งซึ่งได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิดที่สุดและคาดการณ์ทำนายยากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากหวั่นเกรงกันว่าผลลัพธ์ที่ออกมาน่าจะไม่ได้รัฐบาลใหม่ที่เข้มแข็งเพียงพอจะนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลอดจนช่วยคลี่คลายวิกฤตหนี้ยูโรโซน
การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทั้ง 2 สภาในคราวนี้ ถือเป็นครั้งแรกภายหลังจากมหาเศรษฐีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ผู้ฉาวโฉ่ ถูกปลดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2011 ท่ามกลางกระแสความตื่นตระหนกในตลาดการเงิน และได้มาริโอ มอนติ อดีตเจ้าหน้าที่สำคัญจากสหภาพยุโรป (อียู) ทำหน้าที่แทน
ทางการอิตาลีขะมักเขม้นรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ เนื่องจากกลัวว่าการหมดศรัทธาต่อการเมืองอาจทำให้มีผู้ออกไปลงคะแนนน้อยกว่าปกติ โดยผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้นราว 47 ล้านคน
การลงคะแนนจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือ วันอาทิตย์ และวันจันทร์ (25) โดยปิดหีบหมดเวลาโหวตในเวลาบ่าย 15.00 น.ของวันจันทร์ (ตรงกับ 21.00 น.เวลาเมืองไทย) คาดกันว่าเอ็กซิตโพลจะออกมาทันทีหลังจากปิดหีบ ตามด้วยผลการนับคะแนนเบื้องต้นอย่างเป็นทางการ
ตัวเก็งเต็งหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้คือพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ที่เป็นพรรคแนวกลางซ้ายและมี ปิเอร์ ลุยจิ เบอร์ซานี เป็นหัวหน้า กระนั้นนักวิเคราะห์เชื่อว่าเบอร์ซานีคงไม่ได้เสียงข้างมาก ทำให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่นๆ ซึ่งจะไม่มีเสถียรภาพอย่างที่ควรเป็น
เบอร์ซานีให้สัญญาว่า จะยึดมั่นกับวินัยงบประมาณของมอนติ แต่จะเพิ่มความพยายามผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจและการจ้างงาน ขณะที่อิตาลีกำลังเผชิญภาวะถดถอยเรื้อรังที่สุดในรอบ 20 ปี และอัตราว่างงานทำสถิติสูงสุด
สำหรับพันธมิตรแนวกลางขวาของแบร์ลุสโกนี อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัยที่พัวพันกับข่าวฉาวมากมายและเป็นจำเลยในคดีโกงภาษีและใช้บริการโสเภณีเด็กนั้น ผลโพลชี้ว่าอาจไล่เข้ามาเป็นอันดับ 2 แบบกระชั้นชิด
ส่วนอันดับ 3 จากผลสำรวจระบุว่าอาจเป็นเบปเป้ กริลโล นักแสดงตลกที่ผันตัวเองเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ซึ่งมุ่งเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนที่ไม่พอใจนักการเมืองเลือดเก่า
โพลก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า เบอร์ซานีอาจต้องจับมือกับมอนติ และนำศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ผู้นี้กลับเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐบาลผสมชุดนี้มีปัญหาจากความแตกต่างระหว่างแนวทางตลาดเสรีของมอนติ กับแนวทางของพรรคฝ่ายซ้ายสุดขั้วที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับเบอร์ซานีอยู่แล้ว
ภายใต้การบริหารของมอนติก่อนหน้านี้ อิตาลีสามารถควบคุมสถานการณ์หนี้สาธารณะได้ แม้มีหนี้ถึง 120.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรืออันดับ 2 ในยูโรโซนรองจากกรีซ
กระนั้น มาตรการลดการใช้จ่าย ขึ้นภาษี และปฏิรูประบบบำนาญที่ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ และฟื้นความน่าเชื่อถือของอิตาลี กลับสร้างความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน
นักวิเคราะห์การเมือง โรเบอร์โต ดาลิมอนติ มองว่า แบร์ลุสโกนียังคงเป็นผู้ทรงอิทธิพล โดยได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังให้สัญญาว่า จะยกเลิกภาษีมรดกที่ไม่ได้รับความนิยม รวมทั้งจะต่อต้านการครอบงำของเยอรมนีและนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ตลอดจนมาตรการรัดเข็มขัดของยุโรป
การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีนัยต่อยุโรป เนื่องจากอิตาลีเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของยูโรโซนรองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยความเสี่ยงสำคัญสำหรับอิตาลีและยูโรโซนคือ รัฐบาลใหม่ที่อ่อนแอ ไม่สามารถผลักดันมาตรการเด็ดขาด ซึ่งจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและวิกฤตหนี้รอบใหม่จะฟื้นคืนชีพ
อนึ่ง ในการเลือกตั้งวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันแรกนั้น ปรากฏว่ามีหญิงนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี 3 คนซึ่งเปลือยอกเขียนข้อความว่า “พอกันทีกับแบร์ลุสโกนี” พยายามกรูเข้าไปที่ตัวแบร์สุลโกนี ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ฉาวโฉ่เดินทางไปลงคะแนนในเมืองมิลาน แต่พวกเธอถูกตำรวจขัดขวางจับกุมตัว และไม่ได้เกิดเหตุรุนแรงอะไรมากกว่านั้น