เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทหารฝรั่งเศสและมาลีออกลาดตระเวนในเมืองทิมบักตู เมื่อวันอังคาร (29 ม.ค.) หลังจากยึดคืนเมืองประวัติศาสตร์ในทะเลทรายซาฮาราแห่งนี้ได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรุกใหญ่ซึ่งแดนน้ำหอมทุ่มเทเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เพื่อผลักดันกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงให้ถอยออกจากพื้นที่ทางตอนเหนือของมาลีซึ่งพวกเขาควบคุมเอาไว้เป็นเวลาร่วมปี ทั้งนี้ผู้นำฝรั่งเศสแบะท่าว่า กำลังจะส่งมอบภารกิจนี้ต่อให้แก่กองกำลังผสมของแอฟริกา
การยึดคืนเมืองทิมบักตูเกิดขึ้น 18 วันหลังจากฝรั่งเศสโดยการสนับสนุนของกองทัพมาลี เปิดปฏิบัติการโจมตีกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงที่เข้ายึดเมืองนี้นานถึง 10 เดือน กลุ่มซึ่งมีความโยงใยกับเครือข่ายอัลกออิดะห์กลุ่มนี้ฉวยโอกาสอันเหมาะเจาะเข้าควบคุมพื้นที่ภาคเหนือ ในขณะที่มาลีกำลังตกอยู่ในความระส่ำระสาย ภายหลังเกิดการรัฐประหารยึดอนำาจในเมืองหลวงบามาโก เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงเหล่านี้พยายามเคลื่อนกำลังเข้าสู่พื้นที่ทางตอนใต้ที่ยังคงอยู่ในการปกครองของรัฐบาลมาลี ก็จุดชนวนให้ต่างชาติอันมีฝรั่งเศสเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่สุด ตัดสินใจเข้าแทรกแซงทั้งด้วยการโจมตีทิ้งระเบิดและการรุกภาคพื้นดิน
เวลานี้ พวกนักรบอิสลามหัวรุนแรงได้ล่าถอยไปยังพื้นที่ควบคุมที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียว นั่นคือเมืองไคดาล ทางเหนือสุดของประเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากบามาโก 1,500 กิโลเมตร
ชาวเมืองทิมบักตูต่างพากันออกมาต้อนรับกองกำลังฝรั่งเศสและมาลีอย่างยินดีเมื่อวันจันทร์ (28) บางคนเล่าว่า ผู้ยึดครองหัวรุนแรงออกจากเมืองไปตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน ขณะที่ฝรั่งเศสระดมโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นของนักรบเหล่านั้น
มีรายงานด้วยว่า ขณะที่ทหารฝรั่งเศสและมาลีเคลื่อนเข้าประชิดทิมบักตู พวกอิสลามหัวรุนแรงได้เผาอาคารหลังหนึ่งของศูนย์เอกสารและการวิจัยอาเหม็ด บาบา อันเป็นสถานที่เก็บรักษาหนังสือเอกสารคัดลอกด้วยลายมืออันเก่าแก่ทั้งของชาวมุสลิมและชาวกรีกจำนวนนับหมื่นๆ ชิ้น
นอกจากนี้ ฟาตู เบนซูดา หัวหน้าอัยการศาลอาชญากรระหว่างประเทศ ยังออกมาเตือนกรณีที่มีรายงานว่า กองทัพมาลีใช้อำนาจโดยมิชอบ เช่น ประหารชีวิตผู้ต้องสงสัยโดยไม่ไต่สวนในเมืองที่ยึดคืนได้จากฝ่ายกบฏ
ขณะเดียวกัน ฟรังซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสกล่าวที่กรุงปารีสว่า กองกำลังของแอฟริกาสามารถสานต่อภารกิจนี้ได้แล้ว หลังจากถูกผู้สื่อข่าวซักถามว่า ทหารฝรั่งเศสยังจะเดินหน้ารุกไล่นักรบอิสลามออกจากตอนเหนือของมาลีต่อไปหรือไม่
ปัจจุบัน ฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคมของมาลี มีทหารอยู่ในประเทศนี้ 2,900 นาย และคาดว่ากองกำลังแอฟริกาเกือบ 8,000 นายจากชาดและกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) จะเข้ารับหน้าที่ต่อ กระนั้น การเคลื่อนกำลังพลของแอฟริกาเป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้า โดยยังมีทหาร 2,700 นายกระจัดกระจายอยู่ระหว่างมาลีกับไนเจอร์
เกี่ยวกับภารกิจนี้ สหภาพแอฟริกา (Africa Union) กล่าวเมื่อวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดในกรุงแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปียว่า กองกำลังแอฟริกาจะต้องใช้งบประมาณ 460 ล้านดอลลาร์ และสัญญาว่าจะอัดฉีดให้ 50 ล้านดอลลาร์ ขณะที่โฆษกของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนแห่งอังกฤษ เผยว่าลอนดอนจะสนับสนุนเพิ่มเติมหลังจากที่จัดส่งเครื่องบินขนส่ง 2 ลำและเครื่องบินตรวจการณ์อีก 1 ลำไปให้แล้ว
ขณะเดียวกัน ความช่วยเหลือทางการเงินเริ่มหลั่งไหลถึงดินแดนนี้ โดยในวันอังคาร (29) ญี่ปุ่นประกาศให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ภูมิภาคซาเฮล ซึ่งหมายถึงเขตรอยต่อบริเวณทะเลทรายซาฮารา ที่พาดยาวแบ่งทวีปแอฟริกาออกเป็นส่วนเหนือและส่วนใต้ เป็นจำนวน 120 ล้านดอลลาร์ หลังจากชาวญี่ปุ่น 10 คนเสียชีวิตในวิกฤตตัวประกันแอลจีเรียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนั้น ในวันจันทร์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็เพิ่งตกลงจัดสรรเงินกู้ 17.4 ล้านดอลลาร์ให้แก่มาลี