เอเอฟพี - รัฐบาลอิหร่านประสบความสำเร็จในการทดลองส่ง “ลิง” ขึ้นไปเหนือชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญก่อนที่เตหะรานจะส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรกในปี 2020 รัฐมนตรีกลาโหมอิหร่านแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ
ด้านสหรัฐฯ ชี้ว่า หากรายงานดังกล่าวเป็นความจริง เท่ากับอิหร่านละเมิดมติองค์การสหประชาชาติที่ห้ามมิให้ทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขีปนาวุธ
สถานีโทรทัศน์ อัล-อะลัม ภาคภาษาอังกฤษ และสื่ออิหร่านอีกหลายสำนักรายงานว่า ลิงซึ่งใช้เพื่อการทดลองกลับถึงพื้นโลกอย่างปลอดภัยเมื่อวานนี้ (28) หลังเดินทางไปพร้อมกับแคปซูลสู่ความสูง 120 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งยังต่ำกว่าวงโคจร (sub-orbital)
“ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การพิชิตห้วงอวกาศโดยมนุษย์ และเป็นการปูทางเพื่อการทดลองอื่นๆต่อไป... ลิงที่ถูกส่งไปครั้งนี้กลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยและยังมีชีวิตอยู่ ถือเป็นความสำเร็จชิ้นเยี่ยมของผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ของเรา” พล.อ.อะหมัด วาฮีดี รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิหร่านแถลง
อย่างไรก็ตาม วาฮีดีชี้ว่า การส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศยังต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร
กระทรวงกลาโหมอิหร่านมีแถลงการณ์ก่อนหน้านั้นว่า อิหร่าน “ประสบความสำเร็จในการส่งแคปซูลรหัส Pishgam และลิง 1 ตัวขึ้นสู่อวกาศ และสามารถเก็บกู้แคปซูลได้ในสภาพที่สมบูรณ์” โดยไม่เผยรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่และเวลาในการส่งจรวด
ก่อนหน้านี้ อิหร่านเคยทดลองส่งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ขึ้นสู่อวกาศมาแล้ว ได้แก่ นก, เต่า และหนอน
สถานีโทรทัศน์อิหร่านเผยภาพนิ่งของแคปซูล และลิงซึ่งถูกจับสวมเสื้อกั๊กใส่ไว้ในอุปกรณ์ที่ดูคล้ายเบาะที่นั่งสำหรับเด็ก
ความพยายามส่งลิงขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกเมื่อปี 2011 ล้มเหลวไป โดยที่รัฐบาลอิหร่านก็ไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัด
วิกตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังไม่ยืนยันว่ามีการส่งแคปซูลจริงตามที่อิหร่านกล่าวอ้าง แต่ระบุว่า “ทุกคนทราบดีว่าสหรัฐฯ เป็นกังวลเรื่องเทคโนโลยียานอวกาศของอิหร่าน”
“การส่งพาหนะที่สามารถนำวัตถุขึ้นสู่วงโคจรได้ก็เท่ากับเป็นการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลโดยตรง เพราะเป็นสิ่งที่เหมือนและทดแทนกันได้”
องค์การสหประชาชาติมีมติที่ 1929 ห้ามมิให้อิหร่านทำกิจกรรมดังที่กล่าวมานี้ นูแลนด์เผย