เอเอฟพี - คณะกรรมาธิการพิเศษ ซึ่งรับผิดชอบด้านกฏหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศในอินเดีย หลังเกิดคดีข่มขืนนักศึกษาสาวบนรถบัสในกรุงนิวเดลี เตรียมเสนอบทลงโทษใหม่ที่รุนแรงขึ้น ในรายงานที่เสนอต่อรัฐบาลวันนี้ (23)
คณะกรรมาธิการ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 คน นำโดยอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม จักดิช ชารัน เวอร์มา จะข้อเสนอให้กับรัฐบาล ที่กำลังเผชิญกระแสการประท้วงอย่างรุนแรง หลังเหตุข่มขืนสะเทือนขวัญคนทั้งประเทศเมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
"รายงานจะถูกส่งให้กระทรวงมหาดไทยในวันนี้ (23) และสมาชิกของคณะกรรมาธิการดังกล่าวจะแจ้งรายละเอียดข้อเสนอของพวกเขาให้สื่อได้รับทราบ" กุลทีป ซิงห์ ธัตวาเลียเผย
ด้านผู้พิพากษาเวอร์มาได้รับข้อเสนอแนะจำนวนหลายพันฉบับ หลังเขากำหนดให้วันที่ 5 มกราคมเป็นเส้นตายสำหรับการแสดงความเห็นจากนักกฏหมาย กลุ่มสิทธิสตรี และกลุ่มอื่นๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฏหมายที่มีอยู่เดิมในการลงโทษผู้กระทำความผิดทางเพศ
คณะกรรมาธิการดังกล่าวถูกตั้งขึ้นในปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อเรียกร้องมาตรการคุ้มครองสตรีเพศให้มากขึ้น หลังแก๊งคนร้าย 6 คนก่อเหตุรุมโทรมนักศึกษา วัย 23 ปี บนรถเมล์ในกรุงนิวเดลี และโยนเธอลงจากรถขณะวิ่งอย่างโหดเหี้ยม
กฏหมายเกี่ยวกับบทลงโทษอายุ 153 ปีของอินเดียกำหนดให้ผู้ข่มขืนควรได้รับโทษอย่างต่ำคือจำคุก 7 ปี และสูงสุดคือตลอดชีวิต ขณะที่คนร้ายแก๊งข่มขืนดังกล่าวอาจได้รับโทษอย่างต่ำคือจำคุก 10 ปี หรือถึงตลอดชีวิต
ด้านสื่อต่างๆ รายงานว่า พรรคคองเกรส ซึ่งเป็นรัฐบาลของอินเดียเสนอโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ก่อเหตุข่มขืน ในบางกรณีที่ได้รับการยกเว้นเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอใช้บทลงโทษ "ตอนด้วยยา" เพื่อจำกัดความต้องการทางเพศทิ้งไป
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับทำงานของคณะกรรมาธิการดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ได้ประกาศให้มีการดำเนินคดีแก๊งข่มขืนในศาลพิเศษ เพื่อเร่งรัดระบบยุติธรรมที่เชื่องช้าของประเทศ รวมถึงความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนตำรวจหญิงอีกด้วย
แม้การล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติในอินเดีย ทว่า คดีข่มขืนนักศึกษาบนรถเมล์นั้นเป็นเรื่องสะเทือนขวัญอย่างยิ่ง จนนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อสตรีเพศในสังคมอินเดีย