เอเอฟพี - พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค และดิสคัฟเวอรี แชนแนล เผย วันนี้ (7) ว่าพวกเขาสามารถบันทึกภาพหมึกขนาดยักษ์ ลำตัวยาว 8 เมตร ใต้ท้องทะเลลึกในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยถือเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายวิดีโอสิ่งมีชีวิตซึ่งพบได้ยากตัวนี้ในธรรมชาติได้สำเร็จ
ทีมนักวิทยาศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ทั้ง 2 แห่งพบหมึกตัวดังกล่าวที่ระดับความลึก 630 เมตร ด้วยเรือดำน้ำซับเมิร์สซิเบิล ในบริเวณที่ห่างจากเกาะชิชิไปทางตะวันออกราว 15 กิโลเมตร ทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา
เรือดำน้ำพร้อมทีมงาน 3 คน ซึ่งในจำนวนนั้นคือ ซึเนมิ คุโบเดระ จากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ติดตามเจ้าหมึกยักษ์ตัวนั้นไปถึงระดับความลึกที่ 900 เมตร ขณะที่มันว่ายลงสู่เหวทะเล
เอ็นเอชเคได้เผยภาพปลาหมึกยักษ์ซึ่งมีสีเงิน ตากลมสีดำขนาดใหญ่ กำลังว่ายทวนกระแสน้ำ พร้อมถือเหยื่อไว้ด้วยหนวดของมัน โดยมีฉากหลังเป็นความมืดสนิทในท้องทะเลลึก
คุโบเดระกล่าวว่า สิ่งมีชีวิตตัวนี้มีความยาวประมาณ 3 เมตร แต่อาจจะมีความได้ถึง 8 เมตร หาก 2 หนวดที่ยาวที่สุดไม่ขาดไปเสียก่อน โดยไม่ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับหนวดที่หายไปนั้นแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เขายังระบุว่านี่เป็นวิดีโอแรกที่สามารถบันทึกภาพปลาหมึกขนาดใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ ในระดับความลึกของมหาสมุทรที่มีออกซิเจนอยู่เพียงน้อยนิดเช่นนี้
ก่อนหน้านี้ โคบุเดระ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปลาหมึกยังเคยบันทึกวิดีโอหมึกขนาดใหญ่ตัวเป็นๆ ตัวหนึ่งได้เมื่อปี 2006 แต่เป็นการถ่ายภาพจากเรือของเขา หลังหมึกตัวนั้นติดเบ็ด แล้วถูกดึงขึ้นมาเหนือผิวน้ำ
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หมึกยักษ์ (Architeuthis) นี้อาจเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตลึกลับท้ายสุดของโลกที่ไม่เป็นมิตรกับมนุษย์จนยากที่จะค้นพบ