เอ็นบีซี/ซีบีเอส - หมึกหลายร้อยตัวถูกซัดมาเกยตื้นชายฝั่งแถบซานตาครูซ เคาน์ตี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ช่วงสุดสัปดาห์ ขณะที่เหล่านักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามตรวจสอบถึงต้นตอเหตุการณ์อันน่าพิศวงนี้
หมึกฮัมโบลด์ขนาดใหญ่หลายร้อยตัวเกยตื้นกระจัดกระจายครอบคลุมชายฝั่งจากแอปตอสถึงวัตสันวิลล์เป็นระยะทางกว่า 19 กิโลเมตร และเหล่านักวิทยาศาสตร์ประกาศเตือนประชาชนห้ามสัมผัสหรือลักลอบนำเอาหมึกเหล่านี้ไปปรุงเป็นอาหาร เนื่องจากอาจมีสารพิษที่เป็นอันตรายอยู่ในตัวของพวกมัน
เหล่านักวิจัย ณ สถานีวิจัยทางทะเลฮอพกินส์ ของมหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด ระบุว่ามีข้อสันนิษฐานอยู่ 2 อย่างต่อสาเหตุการเกยตื้นตามชายฝั่งต่างๆ แถบแคลิฟอร์เนียกลางและแคลิฟอร์เนียเหนือ ของเหล่าหมึกความยาวเฉลี่ย 35 เซนติเมตร ซึ่งปกติแล้วมักพบเฉพาะบริเวณน้ำอุ่นใกล้ทะเลคอร์เตซเท่านั้น
“เรามีอยู่ 2 ทฤษฎี” ฮันนา โรเซน นักศึกษาระดับปริญญา กล่าวว่า ข้อแรกคือหมึกเหล่านั้นอาจรุกล้ำเข้ามายังพื้นที่ใหม่ๆ ด้วยหมึกที่พบเกยตื้นตามชายหาดต่างๆ รอบๆ มอนเตเรย์และซานตาครูซนับตั้งแต่เดือนตุลาคมส่วนใหญ่เป็นหมึกวัยหนุ่มสาว บางทีพวกมันอาจว่ายตามกระแสน้ำอุ่นและเข้ามาหาอาหารในพื้นที่แถบนี้
โรเซนบอกต่อว่า ในอดีตที่พบเห็นหมึกฮัมโบลด์ว่ายมายังน่านน้ำแถบนี้นั้นมีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์เอลนีโญ และพอพวกมันปรับตัวได้แล้วการเกยตื้นก็จะลดลงไปเอง
ส่วนทฤษฎีที่สองก็คือ การเกยตื้นครั้งนี้สัมพันธ์กับห่วงโซ่อาหารของหมึกที่อาจปนเปื้อนเป็นครั้งคราวจากภาวะสาหร่ายเบ่งบาน โดยสาหร่ายทะเลสีแดงมีพิษชนิดหนึ่งซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทกลางของหมึกและทำให้พวกมันสับสน
อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยแห่งนี้ได้ทำการเก็บตัวอย่างหมึกเหล่านี้และตรวจสอบถึงสาเหตุของการเกยตื้นครั้งนี้ให้ชัดเจนอีกครั้ง พร้อมตอบข้อสงสัยว่าทำไมพวกมันถึงเข้ามาอยู่ในพื้นที่แถบนี้ และทำไมถึงพบเห็นการเกยตื้นอยู่เป็นระยะๆ หลังจากครั้งนี้นับเป็นการเกยตื้นหนที่ 3 แล้วในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา