เอเอฟพี/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - บรรดาผู้นำจาก 10ประเทศ สมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)ทำพิธีลงนามในวันอาทิตย์ (18) ประกาศปฏิญญาสิทธิมนุษยชนของภูมิภาค ที่ถูกมองว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของภูมิภาคซึ่งเป็นบ้านของประชากรกว่า 600 ล้านคน ณ เวทีการประชุมสุดยอดประจำปีที่จัดขึ้นที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา แต่นักวิจารณ์กลับเห็นว่ายังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนของโลก
อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีสำคัญ ในการผลักดันปฏิญญาด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเผยหลังพิธีลงนาม โดยระบุ ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนของอาเซียนนี้จะเป็นมรดกที่สืบทอดไปยังลูกหลานของเราในทั้ง 10 ประเทศ
ก่อนหน้านี้ นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชาวแอฟริกาใต้ รวมถึง กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลกมากกว่า 60 กลุ่ม ได้ออกโรงเรียกร้องให้สมาชิกอาเซียนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายกันในทางการเมืองการปกครอง เลื่อนกำหนดการประกาศใช้ปฏิญญาฯดังกล่าวออกไปก่อนท่ามกลางความกังวลว่า อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกให้การยอมรับ อีกทั้งยังมีเสียงวิจารณ์ถึงการขาดความโปร่งใส และปราศจากกระบวนการปรึกษาหารือและรับฟังความเห็นของภาคประชาสังคม
ด้านสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เผยว่าที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันเสาร์ (17) ได้ร่วมกันแก้ไขเนื้อหาของปฏิญญาดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมถึงเสียงวิจารณ์ต่างๆในช่วงก่อนหน้านี้ โดยยืนยันปฏิญญาสิทธิมนุษยชนของชาติสมาชิกอาเซียน มีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
อย่างไรก็ดี ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียขององค์กร “ฮิวแมน ไรต์ส วอทช์” เผยว่า ความพยายามในการแก้ไขเนื้อหาสาระของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันเสาร์ (17) ยังไม่เป็นการเพียงพอ ที่จะขจัดข้อบกพร่องต่างๆในปฏิญญาฯ ซึ่งโรเบิร์ตสันอ้างว่า จะนำไปสู่การยอมรับให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถกวาดล้างการเคลื่อนไหวต่างๆในสังคม ให้เป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายโดยอ้างบริบทแห่งชาติ หรืออ้างหลักการพื้นฐานเรื่องศีลธรรมจรรยาส่วนรวม
“แทนที่อาเซียนจะทำให้ปฏิญญาด้านสิทธิมนุษยชนของตนเทียบเท่ากับมาตรฐานระหว่างประเทศ แต่ปฏิญญาของอาเซียนครั้งนี้กลับมีมาตรฐานที่ต่ำกว่า ด้วยการเปิดทางให้ชาติสมาชิกสามารถสร้างช่องโหว่ใหม่ๆ เพื่อรองรับการที่รัฐสามารถละเมิดสิทธิ์ของประชาชนในประเทศตัวเองได้อย่างชอบธรรม” โรเบิร์ตสันกล่าว
ด้านมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เรียกร้องให้ผู้สังเกตการณ์และกลุ่มเคลื่อนไหวจากทั่วโลกอย่างเพิ่งด่วนสรุปเรื่องมาตรฐานของปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน โดยอยากให้มองในแง่ที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับอาเซียนต่อการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป